สืบสันดาน และ การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์

สืบสันดาน และ การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์

15 ส.ค. 67 3581

      เรียกได้ว่าเป็นซีรีส์ดังแห่งยุคที่ถูกกล่าวขวัญกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมไทย และร้อนแรงไปไกลถึงระดับโลก สามารถเบียดแย่งขึ้นแท่นอันดับ 1 ผู้ชมสูงสุดใน Netflix Worldwide  ได้อย่างฮือฮา น่าทึ่งเป็นที่สุด สำหรับ ซีรีส์ “สืบสันดาน” 

      
      

      สาระ เรื่องราว รายละเอียดในละครเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ? ขออนุญาตไม่กล่าวถึงในที่นี้  ผลจากการอดตาหลับขับตานอนค่อนคืนในแต่ละวัน บนเส้นทางการสืบสันดานของตระกูลเทวสถิตย์ไพศาล สามารถนิยาม ตีความ และให้ความหมายได้หลากหลายตามสไตล์ รสนิยม สุนทรียะ ฯลฯ ของผู้เสพ ทว่าข้าพเจ้าอยากจะแบ่งปันแง่มุมเล็กๆ ทางการบริหารผ่านการแข่งขัน ในฉากและพล็อตของซีรีส์เรื่องนี้ 

      ข้าพเจ้าคิดว่าการเลี้ยงดูลูกให้มุ่งแข่งขัน แย่งชิง ชิงดีชิงเด่นกันเอง คือ โศกนาฏกรรมหนึ่งที่สำคัญของสันดานและการสืบสันดาน ที่นำไปสู่การทำลายล้าง จุดจบ และการล่มสลายของตระกูลอันมั่งคั่ง   

      ต่อคำถาม ใครชนะ?   ก่อนลงมือหวดอย่างรุนแรง ท่ามเสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นของลูกชาย

     “ถ้ามันโกงแกก็ต้องหาวิธีเอาชนะมันให้ได้” พ่อสำทับฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด

     คือ คำขาด ที่จดจำฝังลึกในความรู้สึกตั้งแต่เยาว์วัย

     เมื่อการแข่งขันถูกทำให้กลายเป็นเป้าหมาย การกลั่นแกล้ง แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ชิงไหวชิงพริบ ทำลายล้าง เอาชนะ จึงเกิดขึ้น

     แต่การแข่งขันไม่ได้มีเพียงด้านลบ “เอาชนะคะคาน” เท่านั้น?  

     ในอีกด้านหนึ่งการแข่งขัน สามารถนำมาเป็นเครื่องมือผลักดัน กระตุ้นศักยภาพ-ความสามารถในการทำงาน สร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลิตภาพ และการบรรลุเป้าหมายสูงสุดขององค์กรได้ 

     เป็นการแข่งขันในเชิงบวก ซึ่งข้าพเจ้า เรียกว่า “การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์”  

     การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาศักยภาพ พลัง/ขีดความสามารถอย่างสร้างสรรค์ และหนุนเสริมทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเหมาะสมในระดับปัจเจกบุคคล กลุ่ม/องค์กร เพื่อไปให้ถึงซึ่งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และใฝ่ฝันร่วมกัน

     กล่าวในแง่นี้ การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม การสนับสนุน และการสานพลังกันและกันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีกระบวนการสะท้อนย้อนคิด  ทบทวน สรุปบทเรียน เรียนรู้ พัฒนา ด้วยความคิด นวัตกรรม และการพัฒนาทักษะที่จำเป็น-พอเพียง อันจะทำให้เกิดศักยภาพการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมา      

     ฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดกิจกรรม “TSU Innovation Pitching League 2024”  เชิญชวนนิสิตทุกชั้นปีร่วมเสนอไอเดียนวัตกรรม ครอบคลุมด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรคิ์ นวัตกรรมการเพื่อศึกษา และศิลปวัฒนธรรม ในรูปแบบของการ “Pitch” โดยทีมสุดยอดนวัตกรรมนอกจากจะได้รับเงินรางวัลแล้ว ยังได้ไปศึกษาดูงานในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศใต้หวันอีกด้วย แต่เหนืออื่นใด กิจกรรมนี้เป็นพื้นที่การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์สำหรับทุกคน ทำให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา การนำเสนอ โน้มน้าว ชักจูง การทำงานเป็นทีม ฯลฯ อันเป็นประสบการณ์ที่จะช่วยเติมเต็มการเรียนรู้เชิงบูรณาการกับชุมชน การนวัตกรรมสังคมในมิติการจัดการเรียนรู้และวิชาการมากยิ่งขึ้น 

     ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาคุณภาพองค์กร จะเริ่มจัดสรรงบประมาณแบบใหม่เรียกว่า “งบยุทธศาสตร์”  เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์แบบก้าวกระโดด ด้วยวิธี “TSU Hackathon” เพื่อเป็นพื้นที่และวิธีการสร้างสรรค์ สร้างงานนวัตกรรมสังคม สร้างแรงบันดาลใจข้ามศาสตร์ ข้ามหน่วยงาน  และสร้างจิตวิญญาณนักแฮกคาธอนในมหาวิทยาลัย 

     ซีรีส์ “สืบสันดาน” อาจลาจอและลืมกันไปในเร็ววัน เหมือนผู้คนผ่านมาแล้วผ่านไป แต่อย่างไรแล้วองค์กรของเราก็ยังคงอยู่ 

     เราต้องแข่งขันกันสร้างสรรค์ ให้เป็นวัฒนธรรมที่คอยค้ำจุน จรรโลงองค์กร-ของเรา  

-----------------------------------------------------------------------

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ