จากเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปนเปื้อนเมทานอล ประกอบด้วย ชาวเดนมาร์ก 2 ราย ออสเตรเลีย 2 ราย อังกฤษ 1 ราย และอเมริกัน 1 ราย หลังจากเดินทางท่องเที่ยวใน สปป.ลาว ที่เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปนเปื้อนเมทานอล ซึ่งจัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปลอม หรือเหล้าเถื่อน ซึ่งในประเทศไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว จากการที่ผู้ป่วยได้รับสารพิษจากการดื่มยาดองที่มีการปนเปื้อนเมทานอล
เมทานอล (Methanol, Methyl alcohol) เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ไม่มีสี มีความเป็นพิษสูง หากบริโภคเข้าไปอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อเข้าสู่ร่างกาย เมทานอลจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว ถูกเผาผลาญกลายเป็นฟอร์มาลดีไฮด์และกรดฟอร์มิก ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรด เมทานอลเป็นสารพิษที่มีอันตรายต่อระบบประสาท ระบบการหายใจ และการมองเห็น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง หายใจเร็ว วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว อาจถึงขั้นตาบอดและเสียชีวิตได้จากการบริโภคเพียง 25 ถึง 90 มิลลิลิตร
สาเหตุที่มีการลักลอบปลอมปนเมทานอลลงในเครื่องดื่ม อาจเนื่องจากเมทานอลมีราคาถูกกว่าเอทานอลซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่สามารถบริโภคได้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นอันตรายมาก เปรียบเสมือนการวางยาพิษโดยไม่เจตนา
เอทานอล (Ethanol, Ethyl alcohol) เป็นแอลกอฮอล์ที่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย เกิดจากกระบวนการหมัก โดยจุลินทรีย์ Saccharomyces cerevisiae โดยยีสต์ชนิดนี้เปลี่ยนน้ำตาลในผลไม้หรือธัญพืชให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ ได้เป็นไวน์ซึ่งมีแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 12-15 เมื่อต้องการให้ไวน์มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงขึ้น จะนำไปกลั่น ทำให้มีแอลกอฮอล์สูงได้ถึง 35-40 ดีกรี เช่น บรั่นดี วิสกี้ วอดก้า ยิน รัม และ โซจู ซึ่งนิยมนำสุรากลั่นมาชงผสมเป็นเครื่องดื่มค็อกเทลชนิดต่างๆ แต่แอลกอฮอล์ชนิดเอทานอลมีราคาแพง เพราะมีต้นทุนในการผลิตที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน รวมถึงต้องผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
แนวทางการป้องกันในฐานะผู้บริโภค ควรเลือกสถานที่ชงเครื่องดื่มค็อกเทลที่เชื่อถือได้ เป็นร้านค้า บาร์ หรือโรงแรมที่มีใบอนุญาตนำแอลกอฮอล์มาผสมเป็นเครื่องดื่ม หรือเลือกบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่นที่ทำเองจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารอันตรายเมทานอลได้ เปรียบเสมือนถูกวางยาพิษโดยไม่ทันตั้งตัว
...................................................
เรียบเรียงข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลลักษณ์ กล่อมพงษ์
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ
มหาวิทยาลัยทักษิณ
แหล่งอ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/articles/cvglm14nddmo
#สุราเถื่อน #สุราเป็นพิษ #ข่าววันนี้ #knowledgesharing #TSU #TSUNews #ThaksinUniversity