นิสิตสาขาวิชาทัศนศิลป์ ม.ทักษิณ คว้า 2 รางวัลจากการแข่งขันดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 13 ประจำปี 2566

นิสิตสาขาวิชาทัศนศิลป์ ม.ทักษิณ คว้า 2 รางวัลจากการแข่งขันดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 13 ประจำปี 2566

28 พ.ย. 66 693

ขอแสดงความยินดีกับ นิสิตสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ คว้ารางวัลความคิดสร้างสรรค์ และรางวัลดีเด่น จากการเข้าร่วมแข่งขันโครงการ ดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 13 ประจำปี 2566 หัวข้อการสร้างสรรค์งาน "สังคมในโลกใหม่" ซึ่งเป็นการประกวดโดยให้ร่วมทำกิจกรรมและสร้างสรรค์งานศิลปะที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อย่างต่อเนื่องทุกวัน เป็นเวลา 10 วัน จัดโครงการโดยมูลนิธิบัวหลวง และหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เพื่อเปิดเวทีสร้างสรรค์ให้ศิลปินรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ตั้งแต่การทำงานร่วมกับผู้อื่น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กลวิธี กระบวนการสร้างสรรค์งาน และการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างกัน 

สำหรับโครงการ “ดาวเด่นบัวหลวง 101” ประจำปี 2566 คณะกรรมการได้กำหนดหัวข้อในการสร้างสรรค์งาน คือ “สังคมในโลกใหม่” โดยมีผลงานของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจาก 30 สถาบัน 33 คณะ จำนวน 58 คน เข้าร่วมประกวด ซึ่งมีการประกาศผลผู้ได้รับรางวัลเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผลงานศิลปะของนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับรางวัล 2 รางวัล ดังนี้

1. นางสาวอรัญญา ยอดศรี นิสิตสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ รับเงินรางวัล 70,000 บาท 
จากผลงาน แรงงานไทย เทคนิค เย็บปักบนกระสอบป่าน ขนาด 120×150 ซม. 

นางสาวอรัญญา กล่าวว่า “แรงบันดาลใจของการสร้างผลงานชิ้นนี้มาจากประสบการณ์โดยตรงในฐานะที่เป็นลูกหลานเกษตรกร จึงเข้าใจและเล็งเห็นถึงความยากลำบากในการทำงานของกลุ่มคนชนล่าง ซึ่งโครงสร้างทางสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบันยังมีการแบ่งเรื่องของชนชั้น คนที่อยู่ชนชั้นที่ต่ำก็จะเห็นได้ถึงความพยายามในการทำงานอย่างหนัก โดยผ่านเทคนิคการเย็บปักบนกระสอบป่านเพื่อแสดงถึงร่องรอยความเจ็บปวด ความเหนื่อยล้า และความทุกข์ทรมาน ที่สะอ้อนออกมาจากผลงานศิลปะ ซึ่งภายในงานจะจัดองค์ประกอบเป็นลักษณะของกลุ่มคนแรงงาน และใช้กระสอบข้าวเป็นสัญลักษณ์ของการแบกภาระหน้าที่และความหวังของครอบครัวที่หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาเอาไว้”

2. นายวุฒิชัย สุดเดช นิสิตสาขาวิชาทัศนศิลป์  คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ได้รับรางวัลดีเด่น รับเงินรางวัล 50,000 บาท 
จากผลงาน เศษซากการศึกษา เทคนิค สื่อผสมด้วยเเผ่นไม้ ขนาด 120×150 ซม. 

นายวุฒิชัย กล่าวว่า “เเรงบันดาลใจการสร้างผลงานมาจากประสบการณ์พบเห็นเศษซากที่กองเรียงรายของเก้าอี้โต๊ะนักเรียน จึงถ่ายทอดความรู้สึกออกมาในลักษณะเชิงสัญลักษณ์เป็นกองเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทางการศึกษาที่ครั้งหนึ่งสิ่งของเหล่านี้เคยเป็นสิ่งที่สำคัญในการเรียนการสอน ผลงานศิลปะที่ออกแบบสื่อถึง ปัญหาของความเลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย ระบบภายในที่ยังคงเป็นปัญหาให้เห็นมาตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เทคนิคสื่อผสมด้วยเเผ่นไม้ ให้เห็นถึงพื้นผิวบนไม้ที่มีความเฉพาะตัว ร่องรอยที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของกาลเวลาเเละการเเตกหักอย่าผิดปกติ หยิบยกให้เห็นภาพลักษณ์ของความจริงที่ถูกปรากฏ ต้องการให้ตัวผมเเละผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนกับตัวจุดฉนวนการเริ่มต้นใหม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนเเปลงสะท้อนกลับไปหาสังคม วงการการศึกษาไทยให้ตระหนักถึงปัญหาที่ควรเเก้ไข”