การเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ JN.1 โควิด สายพันธุ์ย่อยตัวใหม่  ระบาดไวกว่าโอมิครอน

การเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ JN.1 โควิด สายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ ระบาดไวกว่าโอมิครอน

28 ธ.ค. 66 21668

การเฝ้าระวังไวรัสโควิดสายพันธุ์ JN.1 

1. JN.1 คือ? สายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV2 สาเหตุของโรคโควิด-19
เป็นสายพันธุ์กลายย่อยของโอมิครอนสายพันธุ์หนึ่ง พัฒนามาจากสายพันธุ์ BA.2.86 ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 และ XBB ปัจจุบันพบระบาดในหลายประเทศ และเริ่มตรวจพบในประเทศไทย

2. ทำไมต้องกลัวการระบาดของ JN.1 ในฤดูหนาว?
ธรรมชาติของไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจมักจะแพร่ระบาดในฤดูหนาวมากกว่าฤดูอื่นๆ อยู่แล้ว เนื่องจากอนุภาคไวรัสมีความคงตัวได้นานขึ้นเมื่ออุณหภูมิต่ำ สามารถอยู่นอกร่างกายได้นานหลายชั่วโมง และในประเทศที่หนาวมากๆ ผู้คนก็จะอยู่ใน indoor มากกว่า outdoor ทำให้เกิดการติดต่อได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าอากาศหนาวส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในโพรงจมูกของมนุษย์

3. นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจ JN.1 เป็นพิเศษเพราะอะไร? โดยทั่วไปเวลาเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส นักวิทยาศาสตร์และแพทย์จะสนใจอยู่ 3 ประเด็น คือ    
   1. Highly mutated คือ เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์มากที่สุดที่มีข้อมูลขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโปรตีนหนามแหลม (spike protein) นำไปสู่การติดต่อที่ง่าย และการดื้อวัคซีนที่ใช้กันอยู่ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตาม
   2. Cause reinfection คือ มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ได้มากกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยมีรายงานมาก่อน
   3. Likely more transmissible คือ (อาจ) ติดต่อได้ง่ายกว่าทุกสายพันธุ์ที่มีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งจากข้อมูลของ JN.1 ใน 3 ประเด็น ยังไม่เข้าข่ายที่จะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวล (VOC) แต่เมื่อ JN.1 ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (VOI) จึงมีการตรวจสอบมากขึ้น พบว่า มีการตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำทิ้ง/น้ำเสียที่ยังไม่ได้รับการบำบัดในหลายประเทศ ซึ่งการตรวจพบไวรัสในน้ำเสียนี้เป็นดัชนีบ่งชี้สำหรับการเตือนภัยและการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสได้อย่างดี นอกจากนั้นยังมีรายงานวิจัยบางชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ในส่วนของหนามแหลม ให้จำเพาะเจาะจงกับเซลล์เยื่อบุลำไส้มากขึ้น คล้ายๆ กับไวรัสญาติของมันคือไวรัส MERS-CoV (middle east respiratory syndrome coronavirus) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนๆ

4. ต้องกังวลไหม?
อาจจะยังไม่ต้องกังวล เพราะปัจจุบัน (20 ธันวาคม 2566) องค์การอนามัยโลกจัด JN.1 เป็นเพียง สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (variant of interest, VOI) ยังไม่จัดเป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวล (variant of concern. VOC) ในประเทศไทยปัจจุบัน (ธันวาคม 2566) พบสายพันธุ์ XBB.1.9.2 มากที่สุด (24.5%) รองลงมาคือ EG.5, XBB.1.16 และ XBB.2.3 (23.3%, 17.80%, และ 11.90% ตามลำดับ) ... JN.1 ยังไม่ใช่สายพันธุ์หลัก

5. ต้องฉีดวัคซีนอีกไหม? คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ คือ วัคซีนยังแนะนำให้ฉีดในกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่ม 608 ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน

6. คนที่ฉีดวัคซีน หรือคนที่ฉีดหลายๆ เข็ม ต้องกลัวผลข้างเคียงหรืออาการป่วยจากวัคซีนไหม?
ยังไม่มีรายงานวิจัยที่แน่ชัด เกี่ยวกับเรื่องผลข้างเคียงหรืออาการป่วยภายหลังจากการได้รับวัคซีน แต่ผู้เชี่ยวชาญอธิบายปรากฎการณ์หรือผู้ป่วยที่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ/ป่วย จากการได้รับวัคซีนโควิด คือ ปรากฏการณ์ nocebo effect หมายถึงกลุ่มคนที่ได้ยาหลอก/วัคซีนหลอก แต่รู้สึกว่าตัวเองได้ผลเชิงลบ พูดง่ายๆ คือ มโน หรือ อุปทาน นั่นเอง ผู้รู้อธิบายว่า คนกลุ่มนี้ถึงแม้จะได้รับวัคซีนปลอมวัคซีนหลอก ก็จะรู้สึกว่าตัวเองเกิดอาการทางร่างกาย(ป่วย)อยู่ดี เพราะมีความหวาดกลัวและวิตกกังวลจากการฉีดวัคซีนอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนฉีด และย้ำคิดซ้ำๆ วนไปวนมาเกี่่ยวกับข้อมูลแง่ร้ายของวัคซีน (ตามเฟคนิวส์ที่แชร์กัน)  

สรุป - อย่าตื่นตระหนก ข้อมูล/งานวิจัยหลักยังพูดตรงกันว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์กว่าไม่ฉีด  
สรุป2 - JN.1 ก็เป็นสายพันธุ์กลายของไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์หนึ่ง ตามวิวิฒนาการของไวรัสตามธรรมชาติ ถ้าสังเกตดีดี จะพบว่า ยิ่งไวรัสกลายพันธุ์มากเท่าไหร่ ความรุนแรงในการก่อโรคก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น แต่ความสามารถในการติดเชื้อหรือแพร่กระจายจะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันโควิด-19 ก็จัดเป็นโรคประจำถิ่นไปเรียบร้อยแล้ว ประชากรโลกส่วนใหญ่ติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนเกือบ 100% แล้ว มีการปรับตัวทั้งตัวมนุษย์และตัวไวรัส ปรับให้เข้ากันตามหลักวิวัฒนาการ และข้อมูลในปัจจุบันยังไม่พบว่า JN.1 จะก่อโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่เคยมีรายงานมาก่อนหน้า

ผู้เขียน : ผศ.ดร.ชัยสิทธิ์ นิยะสม อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ