ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา  นวัตกรรมสร้างสรรค์ นิสิต ม.ทักษิณ คว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง การประกวดแผนธุรกิจเพื่อการประกอบการทางสังคม

ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา นวัตกรรมสร้างสรรค์ นิสิต ม.ทักษิณ คว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง การประกวดแผนธุรกิจเพื่อการประกอบการทางสังคม

20 มี.ค. 67 855

ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา นวัตกรรมสร้างสรรค์ นิสิต ม.ทักษิณ คว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง การประกวดแผนธุรกิจเพื่อการประกอบการทางสังคม

ประกาศรางวัลผลการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับการจัดการประกวดแผนธุรกิจเพื่อการประกอบการทางสังคม " ดี มี สุข SE Playground " จัดโดย บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคม ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยทักษิณ  ผลปรากฎว่า รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง  ได้แก่ผลงาน  “ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา” ของทีมการบริหารและพัฒนาชุมชน 1 ซึ่งมีสมาชิกในทีม ประกอบด้วย
     1. นายฐรรธณสร มาสู่สุข
     2. นายสุรศักดิ์ ทิพย์สงคราม
     3. นางสาวอรสา ชาตรี 

โดยมี  อาจารย์ ดร.โอริสา ชุมพงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาประจำทีม ในโอกาสนี้ทีมข่าว TSU NEWS  ขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ นิสิตทุก ๆ ทีม ที่เข้าร่วมการแข่งขันและได้รับรางวัล สำหรับทีมการบริหารและพัฒนาชุมชน 1 เป็นการรวมตัวกันของนิสิตหลักสูตร ศศ.บ.การบริหารและพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ทีมข่าว TSU NEWS  ได้ติดตามสัมภาษณ์น้อง ๆ เพื่อรับทราบแนวคิด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังกล่าว ซึ่งมีแนวคิดดังนี้

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งเข้าประกวด เริ่มต้นจากการเข้าไปศึกษาสภาพทั่วไปและบริบทของชุมชน ผลปรากฏว่า ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมของชุมชน อนึ่งคือ ปัญหาวัชพืชผักตบชวาที่เป็นวัชพืชทางน้ำได้ส่งผลกระทบและสร้างมลพิษส่งผลเสียให้แก่สิ่งแวดล้อมภายในชุมชน คณะผู้จัดทำจึงได้นำปัญหาดังกล่าวมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวานั้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน


สำหรับแนวคิดการผลิตผลงาน ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา การนำกระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยอาศัยการวิจัยเชิงปฎิบัติการ (PAOR) มาใช้ในการผลิตผลงาน มีรายละเอียด ดังนี้ 

* การวางแผน (Plan) คณะผู้จัดทำได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหา ความต้องการ และศักยภาพของชุมชนบ้านหัวนอนวัด หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ทอม จังหวัดสงขลา การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีสำรวจพื้นที่ สังเกต และสัมภาษณ์เจาะลึก 

* การปฏิบัติ (Act)  คณะผู้จัดทำได้ดำเนินการลงมือปฎิบัติการสร้างผลิตภัณฑ์ โดยใช้กระบวนการสร้างเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน ในเรื่องของการผลิตถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา และได้สร้างออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ภาพผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา

* การสังเกตผลหรือติดตามประเมินผล (Observe) คณะผู้วิจัยได้ติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวาของผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 5 คน โดยทำการสัมภาษณ์เจาะลึกเกี่ยวกับ (1) ลักษณะเด่นและข้อจำกัดของถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา และ (2) แนวทางในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) การตรวจสอบข้อมูลใช้วิธีการตรวจสอบแบบสามเส้า (Triangulation) โดยพิจารณาว่าแหล่งบุคคลที่แตกต่างกันให้ข้อมูลสอดคล้องกันหรือไม่ หากข้อมูลที่ได้สอดคล้องกันจึงถือว่าข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ภาพการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวาของชุมชน

* การสะท้อนผล (Reflection) คณะผู้วิจัยนำข้อค้นพบที่ได้จากขั้นตอนการสังเกตผล เพื่อรายงานต่อแกนนำชุมชน และจัดประชุมร่วมกับแกนนำชุมชน ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านหัวนอนวัด ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวา

 

 

ประโยชน์และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม 
1. ภายในชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น 
2. ผลิตภัณฑ์สามารถช่วยแก้ไขปัญหาวัชพืชผักตบชวาให้มีปริมาณน้อยลงได้ ซึ่งทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น  
3. ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัชพืชผักตบชวาที่พัฒนาขึ้น สร้างมลพิษทางควันและส่งกลิ่นในปริมาณน้อย สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในครัวเรือนได้

..................
ข้อมูล/ภาพ :  นายฐรรธณสร มาสู่สุข นิสิตชั้นปีที่ 3  หลักสูตรการบริหารและพัฒนาชุมชน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#ถ่านอัดแท่งผักตบชวา #ดีมีสุข #ดีมีสุขไม่จำกัด #ดีมีสุขเพื่อสังคม #ดีมีสุขSEplayground #TSUHUSO #TSUNEWS  #มหาวิทยาลัยทักษิณ