หู การบริหาร และการสร้างจุดเปลี่ยน

หู การบริหาร และการสร้างจุดเปลี่ยน

4 เม.ย. 67 1563

      จู่ๆโดยไม่มีสัญญาณ สาเหตุ หรือที่มาที่ไป ประสาทหูข้างขวาของข้าพเจ้าก็เกิดอาการ “เสื่อมชนิดฉับพลัน” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “หูดับฉับพลัน” นั่นเอง การได้ยินลดลง เกิดเสียงสะท้อนแบบเอคโค่ ซึ่งก็สร้างความหงุดหงิด วุ่นวายใจ ให้กังวลแก่ข้าพเจ้าอยู่ไม่น้อยที่เดียว แม้พยายาม “ตั้งสติ” มองโลกในแง่บวก “มีหูอีกตั้งข้างให้ได้ยิน-ฟัง และตรึกตรอง”

   1.  
      ในโลกอันอึกทึกและเสียงอันมากมายไพศาล ว่ากันว่าทุกวันนี้เราได้ยินเสียงกันมากขึ้น แต่ฟังกันน้อยลงทุกทีๆ การได้ยินเป็นกระบวนการพื้นฐานทางสรีระ ส่วนการฟังเป็นกระบวนการคิดวิเคราะห์ ตีความและให้ความหมายที่ซับซ้อนขึ้น
      “นักบริหารที่ดีต้อง “ฟังแบบได้ยิน” ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ครูผู้อาทรของข้าพเจ้าชี้ทางสติและปัญญาบริหารเมื่อครั้งกระโน้น “การฟังเป็นหัวใจของการสื่อสาร...สุดยอดของการสื่อสารคือการฟัง”
      โดยเฉพาะการฟังในขั้นสูงที่เดวิด โบห์ม (David Bohm) นักวิทยาศาสตร์ควอนตัมฟิสิกส์ผู้โด่งดังแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้เชื่อมโลกวิทยาศาสตร์ โลกธรรมชาติ จักรวาลวิทยา และรากฐานทางจิตวิญาณแบบองค์รวม เรียกว่า “การฟังแบบสนทนาและมีสุนทรียะ” ในความหมายที่รวบรัดก็คือ การฟังด้วย “หัวใจ” เพื่อไปให้ได้มาซึ่ง “ปัญญาญาณและปัญญาร่วม” จากกระบวนการสนทนาแบบมีสุนทรียะอันเปี่ยมล้นด้วยพลังแห่งศิลปะ ความอดทนอดกลั้น ความงาม ความรัก และความคิดสร้างสรรค์”
      สุดยอดของผู้นำ “ฟัง...สนทนา ปัญญาญาณ-ปัญญาร่วม”

2.       
      ข้าพเจ้าพักอาศัยที่บ้านชานเมืองย่านน้ำน้อย ลพบุรีราเมศวร์ ไม่ได้เป็นหมู่บ้านจัดสรรสำเร็จรูปโดยทั่วไป สหกรรณ์จัดสรรที่ดินให้สมาชิกเช่าซื้อ ออกแบบ จินตนาการสร้างบ้านไปตามใจชอบ สไตล์ รสนิยม รายได้ ค่านิยม สมสมัย ฯลฯ หมู่บ้านนี้จึงมีสีสัน หลายหลากรูปทรงแลอยู่กันแบบ “ห่างแต่ ชิด มิตรใกล้” ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่สีเขียวครึ้มด้วยไม้เล็กใหญ่ตามธรรมชาติ บ้างปลูกเอง แม้ไม่ถึงกับเป็นสวรรค์ของบรรดานกเถื่อน นกไพร นกหลงเมือง บรรดาสัตว์ สรรพชีวิต ก็เถอะ ! แต่ก็น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก ทั้งคนสัตว์ และการเกื้อกูลต่อกัน
      แดดเช้าหน้าร้อน วันอาทิตย์สุดสัปดาห์มีนาคม โรยตัวสาดแสงแบบขี้เกียจ ครึ้มฟ้าครึมฝน เมฆฝนดำเทาลอยตัวนิ่งสงบคลุมฟ้า ดูขมุกขมัว แม้บางส่วนจะร่วงตกชนิดนับจำนวนเม็ดช่วงใกล้รุ่ง
      กาแฟหอมกรุ่นในแก้วเซรามิคส์ทำมือหนึ่งเดียวในโลก (มิตรสหายจากบางกล่ำบอกอย่างนั้น-วันนั้น ?) สร้างความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ผ่อนคลาย สบายๆ ไม่เร่งรีบ....รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ชวนข้าพเจ้าละเลียดสวนอักษร “ขี่ม้าชมดอกไม้” แบบไม่ให้ละสายตาแม้อ่าน...Relearn มาหลายรอบ
      ข้าพเจ้ายกกาแฟเนิบช้า ต้นกระดังงาสงขลาด้านตะวันตก ใบเขียวแซมเหลืองปะปนร่วงหล่นตามแรงลมรุยอ่อน จังหวะพอดิบพอดีลงตัว ตรงกิ่งโล่ง นกกางเขนบ้าน หรือบินหลาขี้ควาย 2 ตัว หัวและตัวสีดำ/เทา ปีกขาวยาวตั้งแต่ต้นคอยาวไปถึงปลายปีกหาง ขนท้องปุยขาวเนียน ช่างสะอาด ตา นกสองตัวทิ้งระยะห่าง ส่งเสียงทายทัก หยอกเอิน ดั่งคุ้นเคย ก่อนค่อยๆ เถิบเขยิบแนบชิด ยกหางแพนเชิด โบกขึ้นลงไปมา ส่งเสียงบรรเลงเพลงป่า..มีนาคม ฤดูกาลผสมพันธ์และวางไข่...”วงจรชีวิตเริ่มต้นไปตามวิถีแห่งบรรพชีวิน แม้อาจไม่ใช่ถิ่นที่” ข้าพเจ้ากำลังเคลิบเคลิ้ม ดื่มด่ำ
      ความรื่นรมย์หายปลาสนาการ เมื่อจู่ๆ โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นกเอี้ยงหงอน หรือนกเอียงดำ สีดำฝูงใหญ่ สังเกตง่ายๆ จำได้ หงอนยาวชี้ซ่านฟู ครีบขาวยาวไปตามปีก ขา ปากเหลืองสด นักเลงใหญ่ประจำซอยเข้ายึดครองพื้นที่พร้อมเพรียงเสียงร้องหวีดแหลม ตะเบ็งเซ็งแซ่ โหวกเหวก โวยวาย ไม่เป็นสรรพจังหวะ สะเทือนเลื่อนลั่น รัศมีเสียงอำมหิตห่อคลุมบริเวณพื้นที่-ไม่นกตัวไหน ใคร ? ฟังใคร ?
      [ในวันลำพัง แค่ 1-2 ตัว เอี้ยงดำ จะนั่งจ๋อง เศร้าๆ นิ่งๆ เหมือนนกพลัดพราก อย่างงัยอย่างนั้น]
      นักปักษีวิทยาและพฤติกรรมวิทยา ได้นำวิธีการทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า “Frequency Spectrum Analyser” มาวิเคราะห์เสียงร้องสื่อสาร และกล่องเสียง หรือ “Syrinx” ของนกเอี้ยงดำ พบว่ามี 5 รูปแบบหลัก คือ ก้าวร้าว เตือนตัวเอง เตือนภัย ตื่นเต้น และติดต่อฝูง” แต่หนักไปทาง “ก้าวร้าว-เสียงดังกดข่ม” เหนือตัวอื่นเสีย ตรงกันข้ามและแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับผลการศึกษานกกางเขนบ้าน ที่ “ส่งเสียงสื่อสารผ่านการร้องเพลง”
      แตกต่าง ?
      การสนทนาของเดวิด โบห์ม ตอกย้ำในแง่นี้ “ฟังด้วยหัวใจ สนทนาด้วยหัวใจ สื่อสารออกมาเป็นบทเพลง ดังนกป่าบรรเลงเพลงเริงระบำกล่อมไพร”

3.       
      กลับมาที่อาการ “หูเสื่อมชนิดฉับพลัน” หลังเฝ้าติดตามการรักษา ทดสอบการได้ยิน (Audiometric Test) ต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง และการรับประทานยาหลายขนาน ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ “ทานยาตรงเวลา ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ ทำใจสบายๆ ไม่วิตก” เคร่งครัดตามสูตร พบว่าความสามารถในการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นนัยโดยประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ “ถือเป็นสัญญาณบวก ค้นพบจุดเปลี่ยน ถือว่าง่ายแล้ว”
      ข้าพเจ้าหัวใจฟูฟอง ลิงโลด แต่ไม่ตื่นเต้นเท่ากับคำไข (Keyword) “ค้นพบจุดเปลี่ยน”
      ในทุกการเปลี่ยน ต้องหาจุดเริ่มต้น-ค้นสร้าง-การเปลี่ยนแปลง



ภาพจำลอง หู การบริหาร และจุดเปลี่ยน

4.
      ในทางการบริหารการสร้างจุดเปลี่ยนต้องค้น “จุดพลิกผัน” (Tipping Point” ในความหมายพื้นฐานคือการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างจุดเปลี่ยนใหม่จากมวลวิกฤต (Critical Mass) ซึ่งอาจเป็นจุดเล็กๆ ที่มองไม่เห็น มองข้ามละเลย ไม่ใส่ใจในองค์กร แต่เป็นจุดที่เมื่อได้รับการ “เร้ากระตุ้น” ทำให้เกิดการเคลื่อนเปลี่ยนต่อเนื่อง กระทบชิ่งเป็นลูกโซ่โยงใย เป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเคนิวชั่นทางการบริหาร (Fusion Reaction) ที่ทรงพลัง
      -น้ำระเหยกลายกลายเป็นไอน้ำ ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส
      -20 ปี หลังการออกรายงานเล็กๆว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จากเพียงคาดการณ์การสูญเสียแผ่นน้ำแข็งในทวีปอาร์กติกตะวันตก ป่าอะเมซอน สู่ปรากฏการณ์กระทบในทุกหย่อมย่านของโลก จุดพลิดผันต่อเนื่องตามมามากมาย (แม้ยังไม่บรรลุในเร็ววัน)
      -การค้นพบวัคซีนป้องกันจากอหิวาตกโรคจากการไม่ได้ปิดขวดบรรจุไวรัส เป็น เวลา 1 เดือน -การค้นพบยาปฏิชีวนะเพนนิซิลินฆ่าเชื้อโรค จากความบังเอิญอันเหลือเชื่อ เมื่อนักวิทยาศาสตร์นำเชื้อรามาทดลอง แต่ลืมปิดฝาหลอดทดลอง—เชื้อรายังคงเติบโต ทว่าเชื้อโรคโดยรอบรา หยุดการเติบโต เป็นต้นธารยาปฏิชีวนะสายสกุลเพนนิซิลีนไม่สิ้นสุด
      [การค้นพบมาจากความพยายามอันยิ่งใหญ่ ข้อค้นพบมักมาจากความบังเอิญอันเหลือเชื่อ]
      -ใต้สะพานลอยข้ามถนนในถนนสายแออัด กลุ่มวัยรุ่นยกพวกตีกันดุเดือด ผู้โดยสารยืนรอ แตกฮือกระจัดกระจาย หลังฝุ่นตลบ วัยรุ่นนอนสลบเหมือด 1 คน เป็นตายเท่ากัน นักเลงใหญ่ชี้มีดสปาตาร์ตะโกนเสียงห้ามใครยุ่ง ! คล้อยคลังข้าพเจ้าเดินออกไปดูเรียบเคียงๆ ตัดสินใจเรียกรถตุ๊กๆ ผ่านทาง ก่อนมีชายอีก 4-5 คน ช่วยกันยกหนุ่มเคราะห์ร้ายส่งโรงพยาบาล ท่ามเสียงจอแจและวุ่นวายของกรุงเทพฯ เรานั่งเบียดยิ้มให้กันโดยไม่พูดจาท้ายรถ
      -การพูดคุย สนทนาหลายระดับแบบคลุกวง “รุมสกรัม-คิดไว ทำไว ไปด้วยกัน” คือจุดพลิกผันการควบรวมและจัดตั้ง “สำนักส่งเสริมการบริการและภูมิปัญญาชุมชน” เป็นแสงแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะมีใครเสมอเหมือนในสถานการณ์วิกฤตสุขภาพโควิด 19
      -ฯลฯ
      หาจุดพลิกผันจะเป็น “มวลพลังสำคัญ” ที่จะสร้างจุดเปลี่ยน สร้างการเปลี่ยนแปลง ในทุกที่มีจุดนั้น...ครับ !

 

..............................

เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์   อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ



 - น้ำจิ้ม -      

กูรู (GURU) ทางด้านฟังให้ทริค (Trick) ง่ายๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยศาสตร์-สุนทรียะด้านฟังแบบเชื่อมโยงว่า ผู้นำที่ดี ต้องให้ความสำคัญกับการ ฟัง-พูด-คิด- และเขียน ออกมาเป็น Prophet ในเรื่องนั้นๆ ในสัดส่วนโดยประมาณ 40 : 30 : 30