ศาสตร์โนรา สู่คลังภูมิปัญญาสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านแพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษาเชื่อมโยงโลก

ศาสตร์โนรา สู่คลังภูมิปัญญาสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านแพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษาเชื่อมโยงโลก

14 พ.ย. 67 473

ศิลปะการแสดงโนรา เป็นศิลปะแห่งวิถีชีวิตโบราณในพื้นที่ปักษ์ใต้ของไทย โดยองค์ประกอบหลักของการแสดงโนรา คือ เครื่องดนตรี และเครื่องแต่งกาย โดยเครื่องแต่งกายของโนรา จะมีชื่อเรียกว่า เครื่องทรงโนรา หรือเครื่องลูกปัด ที่นำเอาลูกปักหลากหลายสี เม็ดเล็ก ๆ มาร้อยเป็นลวดลาย ซึ่งตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบลูกปัดโบราณ ที่เข้ามาสู่แผ่นดินสุวรรณภูมิทางภาคใต้ มีอายุประมาณ 4,000 – 5,000 ปี แสดงให้เห็นถึงการเป็นแหล่งผลิตลูกปัดขนาดใหญ่ของภาคใต้ อีกทั้งศิลปะการแสดงโนรายังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ 2564 ศิลปะนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงที่งดงาม แต่ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาและความเชื่อที่สืบทอดกันมานับร้อยปี อย่างไรก็ตาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ การถ่ายทอดศิลปะโนราอาจประสบความท้าทายในการดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ ที่มีการเข้าถึงเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน

จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านแกนเวลาเป็นจุดเชื่อมโยงผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ทุกบริบทข้อมูลเข้าด้วยกัน โดยมีพัฒนาระบบสารสนเทศในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน WISE Platform, Wise Trip และ WISE Classroom ให้เป็นลานเรียนรู้ แหล่งค้นคว้าให้แก่นักวิชาการ คุณครู/อาจารย์มหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป เพื่อเสริมสร้างสังคมทางสุวรรณภูมิศึกษา สร้างความยั่งยืน และส่งเสริมความเข้าใจท้องถิ่นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อมโยงเข้าสู่ประวัติศาสตร์โลกและมุ่งเน้นการสืบสานและส่งเสริมศิลปะการแสดงโนรา ให้เข้าถึงและเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ผ่านการเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับโนรา การจัดทำคอนเทนต์มัลติมีเดีย อาทิ วิดีโอการแสดงโนราแบบเสมือนจริง (Virtual Reality) การจัดทำสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ และการใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโนราให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการการเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษาเชื่อมโยงโลก ด้านข้อมูลลักษณะภาพด้วยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรและการคัดกรองบทความเพื่อเผยแพร่ทางวิชาการโลก ภายใต้ สำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

   

และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์  นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา ประจำปี 2564 และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ พร้อมคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เข้าร่วมโครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ศาสตร์โนรา สู่คลังภูมิปัญญาสุวรรณภูมิ” ภายใต้ โครงการการเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษาเชื่อมโยงโลก ด้านข้อมูลลักษณะภาพด้วยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรและการคัดกรองบทความเพื่อการเผยแพร่ทางวิชาการ จัดโดยสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดโครงการ และในโอกาสนี้ นางศศิเพ็ญ ละม้ายพันธุ์ วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ร่วมต้อนรับและกล่าวแสดงความยินดีกับคณะทำงานผู้ร่วมโครงการ ฯ ณ โนราบ้าน 168 ถนนนครใน  ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

  

กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะการแสดงโนรา   เพื่อศึกษาศิลปวัฒนธรรม และรูปแบบลวดลายของการร้อยลูกปัดมโนราห์ และเพื่อสืบสานลวดลายศาสตร์โนราจากการร้อยลูกปัดสู่การสร้างสรรค์งานเครื่องประดับในยุคดิจิทัล โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก  โชคสุชาติ หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะร่วมวิจัยดำเนินการเก็บข้อมูลภายใต้โครงการการเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษาเชื่อมโยงโลก ด้านข้อมูลลักษณะ ภาพด้วยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรและการคัดกรองบทความเพื่อการเผยแพร่ทางวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้แก่ เยาวชน นักศึกษา บุคคลทั่วไป หรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมโนราในยุคดิจิทัล

สำหรับโครงการ "ศาสตร์โนรา สู่คลังภูมิปัญญาสุวรรณภูมิ" จึงมุ่งเน้นการสืบสานและส่งเสริมศิลปะการแสดงโนรา ให้เข้าถึงและเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ผ่านการเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับโนรา การจัดทำคอนเทนต์มัลติมีเดีย อาทิ วิดีโอการแสดงโนราแบบเสมือนจริง (Virtual Reality) การจัดทำสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ และการใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโนราให้แพร่หลายยิ่งขึ้น  ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย

- การเสวนา : หัวข้อ “ศาสตร์โนรา สู่คลังปัญญาสุวรรณภูมิ” เพื่อเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์โนราในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ากับการพัฒนาความรู้ทางปัญญาในยุคสมัยใหม่ โดยเน้นการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคสุวรรณภูมิในระดับสากล ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

- กิจกรรมบรรยาย : แนะนำประวัติความเป็นมาของโนรา ความสำคัญ เส้นทางการเผยแพร่ของศิลปินแห่งชาติ (โนรา) ซึ่งเป็นการนำศิลปวัฒนธรรมโนรา ในรูปแบบกายภาพสู่ดิจิทัล เพื่อส่งเสริมศิลปะการแสดงโนราสู่คนรุ่นใหม่ให้เกิดความรู้จัก ติดตามเรื่องราวของโนรา และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา

- Workshop : ร้อยลูกปัดโนรา เพื่อสืบสานลวดลายศาสตร์โนราที่เดินทางผ่านกาลเวลาหลายร้อยปี

  

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์  นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา ประจำปี 2564  และวิทยากรผู้ช่วยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ และศาสตร์ด้านมโนรา  ในโอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมชื่นชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมเรื่องราวโนรากับดินแดนสุวรรณภูมิ “ลูกปัดโนรา..สายใยแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ” โดย นิสิตสาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมรับชมวิดีทัศน์ “ลูกปัดโนรา..สายใยแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ” ผลิตโดยโครงการการเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษาเชื่อมโยงโลก ฯ และการเสวนา หัวข้อ “ศาสตร์โนรา สู่คลังปัญญาสุวรรณภูมิ” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่

    

 - นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ประธานคณะทำงานการจัดตั้งศูนย์วิจัยวัฒนธรรมภาคพื้นสมุทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ  คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา

- รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย กมลภิวงศ์  ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก โชคสุชาติ  รองผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และหัวหน้าโครงการ ฯ  ทำหน้าที่ผู้ดำเนินการเสวนา

หลังจากนั้น ได้จัดกิจกรรม Workshop “ร้อยลูกปัดศาสตร์โนรา” เพื่อสืบสานลวดลายศาสตร์โนราที่เดินทางผ่านกาลเวลาหลายร้อยปี โดยนักเรียน นิสิต และผู้สนใจ สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ ในครั้งนี้ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร่วมหารือกับ  รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนาศาสตร์มโนรา และขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในการต่อยอดงานวิจัยทางด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกันในอนาคต

.......................................

เรียบเรียง :  งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#ศาสตร์โนรา #สู่คลังภูมิปัญญาสุวรรณภูมิ  #ศิลปินแห่งชาติ  #ธรรมนิตย์_นิคมรัตน์  #แพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษา #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #TSUNEWS  #WeTSU #มหาวิทยาลัยทักษิณ