ปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกกลุ่มอายุและเพศทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับปัจจัยต่าง ๆ ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่กดดัน ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านจิตใจมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เพียงส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ความท้าทายในการเผชิญกับปัญหานี้ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของคนไทยอย่างยั่งยืน
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกในปี 2562 ระบุว่า 1 ใน 8 ของประชากรโลกมีปัญหาด้านสุขภาพจิต คิดเป็นจำนวนมากกว่า 970 ล้านคน ซึ่งสถานการณ์นี้ยิ่งแย่ลงเมื่อเผชิญกับวิกฤติ Covid-19 ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความวิตกกังวลและความเครียดเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยตามรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องสภาวะสังคม ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 พบผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการเพิ่มสูงขึ้นจากจำนวน 1.3 ล้านคน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เป็น 2.8 ล้านคน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ 2.9 ล้านคน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
เมื่อพิจารณารายละเอียดปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทยพบว่า แม้ว่าจะมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่คาดว่าผู้มีปัญหาจริงอาจมากถึง 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจากการเข้าถึงการรักษา และมีผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาจำนวนมาก นอกจากนี้การประเมินสุขภาพจิตตนเอง (Mental Health Check In) ของกรมสุขภาพจิตยังชี้ให้เห็นว่ามีผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การฆ่าตัวตายก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวล โดยในปี 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจำนวน 5,172 คน หรือเท่ากับ 7.9 ต่อประชากรแสนคน เฉลี่ยวันละ 14 คน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง อีกทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น สภาวะโลกร้อนและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ก็มีผลกระทบต่อทั้งสภาพร่างกายและสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่ควรมองข้าม
ด้วยข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์สุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้น สังคมไทยจึงต้องมีการตระหนักรู้และหามาตรการในการแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของประชากรเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งและพร้อมรับมือกับความท้าทายที่หลากหลายรูปแบบในอนาคต
แหล่งข้อมูล : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2567). Mental Health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง. เข้าถึงได้จาก : https://www.nesdc.go.th/download/Social/Social_Report/2567_article_q1_001.pdf (14 พฤศจิกายน 2567)
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยทักษิณ