ม.สร้างสุข ปลูกรอยยิ้ม....TSU Care ดูแลหัวใจ

ม.สร้างสุข ปลูกรอยยิ้ม....TSU Care ดูแลหัวใจ

19 พ.ย. 67 61

สุขภาพจิตดี นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ยั่งยืน

                                                                     “สุขภาพจิต เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

            “การสร้างสุขภาวะ ไม่ใช่แค่เรื่องระบบบริการสุขภาพ....เรื่องสุขภาพจิตควรอยู่ในทุกนโยบายของรัฐ”

“สุขภาพจิต ไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพส่วนตัวของใครคนหนึ่ง หรือแค่ปัญหาสาธารณสุข ที่กรมสุขภาพจิตรับผิดชอบ แต่เป็นความท้าทายของการพัฒนาชาติ

คำกล่าวเหล่านี้....... ไม่เกินจริง

คนไทย 10 ล้านคน มีปัญหาสุขภาพจิต นักศึกษา “เครียด ซึมเศร้า”  พยายามทำร้ายตัวเอง..... นี่ก็ ความจริง!!!

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวไว้ในงานประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ ครั้งที่ 2 ว่า “ไทยมีประชากร 10 ล้านคน ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ในจำนวนนี้มี 3 ล้านคน ได้รับการรักษาในระบบสาธารณสุข ซึ่งยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ตกหล่นและไม่เข้าถึงการรักษา จากข้อมูล Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต พบสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยทุกช่วงอายุ ระหว่างปี 2563-2567 มีความเครียดสูง 8.04%  มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.47% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.39% เฉพาะเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดสูง 24.83%  มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.35%  ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยทั่วไป สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียด ความเหนื่อยล้า การโดนล่วงละเมิดทางเพศบนออนไลน์”

ทุกมหาวิทยาลัยให้ความใส่ใจ Mental Health

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เองก็เล็งเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพจิต และสุขภาวะของนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัย และได้หารือปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนะนำการทำงานกันอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะฝ่ายกิจการนิสิตซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันทุกๆ 2 เดือน เพราะเป็นสิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยต่างตระหนักร่วมกัน และเป็นการยืนยันว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเพียงสถานศึกษาที่มุ่งพัฒนาความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่นิสิตได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและเสริมสร้างการเติบโตทางด้านอารมณ์และจิตใจ ในขณะที่นิสิตต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านทั้งในเรื่องการเรียน การปรับตัวในสังคมใหม่ ความสัมพันธ์กับเพื่อน และการค้นหาตัวตน รวมถึงปัญหาครอบครัวที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้มีโอกาสส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของนิสิตได้อย่างมาก และแน่นอนว่าหากมหาวิทยาลัยมีกลไกการดูแลสุขภาพจิตที่ดี นิสิตก็จะมีสุขภาวะที่ยั่งยืน นั่นหมายความว่านิสิตจะได้รับวัคซีนใจผ่านทุกกลไกการดูแลเพื่อพร้อมก้าวสู่วัยทำงาน และพร้อมเติบโตในโลกของผู้ใหญ่ได้อย่างแข็งแรง

มหาวิทยาลัยทักษิณ กับ กลไกการดูแลหัวใจนิสิต

“เพื่อนใจวัยใส” และ “เพื่อนใจวัยนิสิต” คือภารกิจให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาวะทางจิต ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลนิสิตของมหาวิทยาลัยทักษิณ ทั้งสองวิทยาเขต โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรยา สิทธิสาร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพันธกิจสัมพันธ์ เป็นผู้กำกับดูแลและติดตาม

“เพื่อนใจวัยใส” ดูแลนิสิตวิทยาเขตสงขลา และ “เพื่อนใจวัยนิสิต” สำหรับวิทยาเขตพัทลุง ซึ่งมีกระบวนการดูแลสุขภาวะนิสิตแบบเดียวกัน ใน 3 stage หลัก คือ การป้องกัน – การคัดกรอง – กลไกการดูแลและส่งต่อ

การป้องกัน มีการจัดกิจกรรมเสริมความสุข สร้างทักษะทางสังคม ส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของนิสิต เช่น กิจกรรมตามอัธยาศัย, เวทีประกวด, กีฬา เป็นต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ครอบคลุมไปทุกคณะ และมุ่งส่งเสริมสุขภาวะนิสิตในทุกมิติ

การคัดกรอง มีการตรวจเช็คสุขภาพใจในทุกภาคการศึกษา ผ่านระบบ Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ทราบข้อมูลนิสิตที่อยู่ในภาวะเครียด ภาวะเสี่ยงซึมเศร้า และภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นความลับและนำสู่กระบวนการขั้นที่ 3

กลไกการดูแลและส่งต่อ เป็นขั้นตอนต่อเนื่องหลังจากการคัดกรอง ในลักษณะของการดูแลร่วมกันระหว่างกิจการนิสิต คณะ อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย นักจิตวิทยา และจิตแพทย์ หากปัญหาทางจิตใจของนิสิตเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การนอนไม่หลับ การสูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ หรือมีอาการซึมเศร้า การเข้าถึงการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยทักษิณยังจัดสรรงบประมาณ ซื้อระบบบริการสุขภาพจิต “OOCA” ซึ่งเป็นบริการสุขภาพจิตทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ที่มีผู้ใช้งานกว่า 200,000 ราย และมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตมากกว่า 100 คน นับเป็นอีกหนึ่งกลไกการคัดกรอง ดูแล และส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยให้นิสิตกล้าเปิดใจ ยินดีและยินยอมเข้ารับการรักษาเพราะตลอดการพูดคุย ทุกอย่างจะเป็นความลับระหว่างนิสิต กับนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์

เพื่อนใจ TSU กับ เครือข่ายภายในและภายนอก

เพราะ “สุขภาวะ” เป็นเรื่องของทุกคน ภารกิจ “เพื่อนใจวัยใส” และ “เพื่อนใจวัยนิสิต” จึงได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหลายฝ่ายในมหาวิทยาลัยที่เข้ามามีส่วนในการดูแลและให้คำปรึกษาเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็น “คลินิกอุ่นใจ”คณะพยาบาลศาสตร์, คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว, อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งผ่านการอบรมด้านจิตวิทยา การให้คำปรึกษา การดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่นในทุกปีการศึกษา รวมถึงนิสิตจิตอาสาจากชมรม “เพื่อนช่วยเพื่อน” ที่ผ่านการอบรมด้านจิตวิทยา การรับฟังและเข้าใจผู้อื่น มาช่วยอาสาทำหน้าที่ “ผู้ฟังที่ดี” พร้อมคอยสังเกตการณ์อาการของนิสิตที่อยู่ในภาวะเครียดและรายงานต่อเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย หากมีนิสิตที่มีภาวะรุนแรงตามการประเมินของผู้เชี่ยวชาญก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลพัทลุง และโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์

    

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยทักษิณให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ในทุกกรณีรักษาทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบตั้งแต่ต้นจนกระทั่งหายดี ทั้งยังสื่อสารให้ผู้ปกครอง “มองเห็น”และ “เข้าใจ” ว่า เราต้องทำงานร่วมกัน และทุกครั้งของการประชุมผู้ปกครอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรยา สิทธิสาร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพันธกิจสัมพันธ์จะพบผู้ปกครองด้วยตนเอง เพื่อชี้แจงและสร้างความมั่นใจ พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการดูแลสุขภาพจิตของนิสิต เมื่อเกิดปัญหากับครอบครัวใด จึงทำให้ผู้ปกครองเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือ เพราะการดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่นไม่สามารถทำได้เพียงแค่การให้คำแนะนำจากภายนอก แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งจากครอบครัว และกลุ่มสังคมที่พวกเขาอาศัย ใช้ชีวิต

..................................................................................

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#TSU #TSU_Care  #สุขภาพจิต #ฮีลใจ #MentalHealth #เครียด #ซึมเศร้า #ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต #counseling #จิตวิทยา #กิจการนิสิต #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSUnews #weTSU #เพื่อนใจวัยใส #เพื่อนใจวัยนิสิต

อ้างอิง
The Active.(2567) [Live] เปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576.สืบค้น.เข้าถึง 1 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.youtube.com/watch?v=igSPjfGafgg

เว็บไซต์ Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ.(2567) เปิดตัวเลขคนไทย 10 ล้านคน มีปัญหาสุขภาพจิต นักศึกษา “เครียด ซึมเศร้า” พยายามทำร้ายตัวเอง.สืบค้น.เข้าถึง 1 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.hfocus.org/content/2024/03/30088