มหาวิทยาลัยทักษิณชูบทบาทมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม จากรากสู่โลกเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

1 พ.ย. 66 8072

มหาวิทยาลัยทักษิณชูบทบาท “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมจากรากสู่โลก” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ การบริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตให้สังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน

     ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ในบริบทสังคมโลกและสังคมไทย ทั้งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมือง ความเป็นเมือง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเข้าสู่สังคมดิจิทัล (Digital Transformation) อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมการเมือง วัฒนธรรรม สงครามและการก่อการร้าย ผลจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการสร้างสังคมวิถีใหม่/วิถีใหม่แห่งอนาคต (New Normal/Next Normal) เกิดขึ้นสิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

     รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงนโยบายมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมจากรากสู่โลกของมหาวิทยาลัยทักษิณว่า ในขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ร่วมกันผนึกกำลังเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals: SDGs มหาวิทยาลัยทักษิณภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ชูบทบาท “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมจากรากสู่โลกเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”ผ่านภารกิจหลัก 4 ด้านของมหาวิทยาลัยคือ

     1) จัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเน้นการสร้างสมรรถนะการพัฒนานวัตกรรมสังคมและการเป็นผู้ประกอบการ

     2) วิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเป็นผู้ประกอบการ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

     3) บริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

     4) พัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน

      

     “มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเพื่อการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การเปิดโอกาสการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกๆ คน โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดพัทลุง การสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน โครงการบริหารจัดการพลังงานติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การเพิ่มมูลค่าทางทรัพยากรท้องถิ่น การจัดการเครือข่ายเชิงพื้นที่ด้วยการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาชุมชนปลาสามน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง กล่าว

 

     ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทักษิณได้สืบสานองค์ความรู้ ต่อยอดภูมิปัญญา และถ่ายทอดสู่ชุมชนผ่านงานศิลปะพื้นถิ่น เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ทั้งหมดนี้เป็นภาพส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และหมุดหมายของมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน