นักวิจัย ม.ทักษิณ พัฒนาโมเดลธุรกิจยกระดับแบรนด์ กาหลง สู่สินค้าเศรษฐกิจใหม่ในยุคโควิด-19

25 พ.ย. 67 170

       คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดย อาจารย์ลัดดา ประสาร, รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร แก้วอ่อน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นเรศ ฉิมเรศ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวมพร นิคม, อาจารย์ ดร.วีระวุฒิ แนบเพชร, อาจารย์ชัยวัฒน์ จุมพลกุล, นางสาวอมาวสี รักษ์เรือง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องกิดากร บุญช่วย, อาจารย์ ดร.พินิจ ดวงจินดา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวลักษณ์ สุวรรณแข และอาจารย์ธีระ ชาราพล จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ได้ร่วมกันพัฒนาตัวแบบธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ “กาหลง” สินค้าท้องถิ่นของจังหวัดสตูล

แนวคิดการสร้างนวัตกรรม
       ชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาตัวแบบธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของแบรนด์ “กาหลง” เป็นสินค้าเศรษฐกิจใหม่ในภาวะวิกฤตโควิด-19 จ.สตูล” เป็นการบูรณาการศาสตร์ และเทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสารการตลาด มีการขับเคลื่อนกิจกรรมวิจัยในพื้นที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเตาะหมากบ้านทุ่งพัก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กาบหมากแบรนด์กาหลง กลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงเวลา “Work for community” การศึกษาทำความเข้าใจชุมชนโดยใช้กระบวนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ได้แก่ การศึกษาทำความเข้าใจชุมชน การพิสูจน์สมมติฐานความสมบูรณ์ของทรัพยากรใน 5 มิติของชุมชน การศึกษาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อรายได้แต่ละปัญหาของชุมชน ความสามารถของผู้นำชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาลำดับต่อมาคือ ช่วงเวลา “Work with community” กิจกรรมสำคัญคือการสร้างความร่วมมือทั้งในพื้นที่ตำบลทุ่งนุ้ยและในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นเป้าหมายทางการตลาด การดำเนินการประสานงานหากลุ่มคู่ค้า (Co-hort) ล่วงหน้าเพื่อศึกษาความต้องการของกลุ่มคู่ค้า การจัดกิจกรรมสะท้อนคิดจากตัวกลุ่มเป้าหมายต่อแบบของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการการเปิดประสบการณ์ให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักชุมชนอื่นที่ประสบความสำเร็จด้านวัตถุดิบกาบหมาก
 

ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดการวิจัย
 ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดการวิจัย 
ภาพที่ 2 ภาพรวมการขับเคลื่อนชุดโครงการ


คณะผู้วิจัยสามารถนำผลการศึกษาความต้องการของตลาดมาออกแบบผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารจากกาบหมากและการพัฒนาตัวแม่พิมพ์ โดยให้สอดคล้องกับโจทย์วิจัยที่กำหนดไว้คือ สามารถใช้แก้ปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือภาวะวิกฤตอื่นใดได้ในอนาคต ช่วงเวลาทีสามคือ “Work by community” ด้วยการให้กลุ่มเป้าหมายได้ดำเนินการกิจกรรมด้วยตนเอง การพัฒนาศักยภาพนวัตกรหลังจากการถ่ายทอด และการผลักดันองค์รู้สู่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆ ในชุมชนทุ่งนุ้ยผ่านแผนการพัฒนาตำบลทุ่งนุ้ยขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนุ้ย สถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลิตภัณฑ์กาบหมากแตกต่างจากรูปแบบเดิม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องรองรับสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ที่จะส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเตาะหมากบ้านทุ่งพักสามารถจัดจำหน่ายและเพิ่มรายได้ได้มากขึ้นเป็นร้อยละ 30 จากสถานการณ์เดิมในช่วงปี พ.ศ. 2562 - 2563 เกิดเครื่องมือสื่อสารการตลาดและนวัตกรด้านการสื่อสารการตลาด

การขยายกลุ่มคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารช่วยเปลี่ยนแปลงให้แบรนด์กาหลงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้าง “Brand Awareness” ให้กับผลิตภัณฑ์และตัวผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเตาะหมากบ้านทุ่งพัก เกิดการขยายพื้นที่ทางการขายจากเดิมเพียง 1 จังหวัดคือ สตูล เพิ่มเป็น 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต เกิดซับพลายเชนใหม่สำหรับแบรนด์ “กาหลง” โดยมีรูปแบบการดำเนินงาน คือ
   - การขยายต้นน้ำในกิจกรรมการผลิตวัตถุดิบกาบหมากคุณภาพในตำบลทุ่งนุ้ย
   - การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและปริมาณวัตถุดิบที่สามารถใช้งานได้อย่างเพียงพอ
   - การเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของซับพลายเชนในด้านวัตถุดิบ
   - การกระจายโรงอบความร้อนเพื่อให้ประโยชน์ในการอบกาบหมากที่เป็นวัตถุดิบ โรงอบความร้อนจะถูกกระจายไปยังชุมชนในตำบลทุ่งนุ้ยนอกเหนือจากพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเตาะหมากบ้านทุ่งพัก

ผลกระทบทางสังคมและการนำไปใช้ประโยชน์
       ผลกระทบด้านสังคม การนำเทคโนโลยีตู้อบความร้อนร่วมและการสร้างเครื่องขึ้นรูปภาชนะที่ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงแม่พิมพ์ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง ตั้งแต่กระบวนการตัดเก็บวัตถุดิบกาบหมาก ชุมชนเกิดความรู้ใหม่เกี่ยวกับเลือกเก็บวัตถุดิบคุณภาพ วิธีการป้องกันการเกิดเชื้อรา อายุของผลิตภัณฑ์ สมาชิกชุมชนตำบลทุ่งนุ้ยเกิดความสนใจในการนำวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น (Waste to Value) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคปกครองตำบลทุ่งนุ้ย รวมถึงแกนนำกลุ่มวิสาหกิจอื่นๆ ให้ความสนใจและเข้าสู่กิจกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัยและการขยายผลการใช้ประโยชน์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเครื่องขึ้นรูปกาบหมากและรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่กระบวนการสร้างวัตถุดิบคุณภาพ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานอย่างชัดเจนรวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้เกิดต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงร้อยละ 25 และสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 2 – 4.5 เท่าต่อหนึ่งหน่วยผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ในแบรนด์กาหลงกาบหมากเพิ่มขึ้นอีก 5 รูปแบบ และเป็นรูปแบบที่ตอบสนองตรงกับความต้องการของตลาดและเกิดมูลค่าตลาดรวมที่เพิ่มขึ้นแตกต่างจากเดิมร้อยละ 30 ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แบรนด์กาหลงมีตำแหน่งทางการตลาดเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือรักษ์โลก การใช้วัสดุจากกาบหมากจึงช่วยลดปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนลงได้ การขยายตัวของบรรจุภัณฑ์กาบหมากออกสู่ตลาดสูงขึ้นเป็นลำดับ เข้าไปทดแทนการใช้กล่องอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทโฟมในตลาดได้ประมาณ 30,000 ชิ้นต่อปี
 


 

       นอกจากนี้ยังเกิดกิจกรรมขยายผลที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนตำบลทุ่งนุ้ยคือ การพัฒนาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ เข้าสู่แผนพัฒนาตำบล 5 ปี (พ.ศ. 2568 - 2572 ) ของตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

..........

#การพัฒนาตัวแบบธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของแบรนด์กาหลง #วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเตาะหมากบ้านทุ่งพัก #กาหลง #นวัตกรรมสังคม #SocialInnovation #ThaksinUniversity #ธุรกิจนวัตกรรม #คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ #คณะวิศวกรรมศาสตร์ #คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ #Environment #Sustainability #คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSU #TSUNEWS #WeTSU