ม.ทักษิณ ปลดล็อค..ความเป็นเจ้าของผลงานวิจัย ด้วย... "กฎหมายใหม่ TRIUP ACT "
ส่วนแรกเป็นบรรยายพิเศษ เรื่อง “พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 : ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัย ด้วยกฎหมายใหม่ TRIUP ACT” โดยได้รับเกียรติจากรอง ศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสาระสำคัญของ TRIUP Act ให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐได้ กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรม ของผู้เป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และหน้าที่ของผู้รับโอนผลงาน มีการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกคำสั่ง ให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากทุนของรัฐ ในกรณีฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤติ พร้อมให้ผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมต้องใช้ประโยชน์ บริหารจัดการ และรายงานผลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อผู้ให้ทุน ให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดย เสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทน กำหนดหน่วยงาน วิธีการส่งเสริม และการจัดสรรเงินค่าตอบแทนแก่นักวิจัย เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
ต่อมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ “กฎหมายใหม่ TRIUP ACT : ความท้าทายใหม่ของการวิจัย ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากร ประกอบด้วย
1.รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์คำรณ พิทักษ์ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
3.อาจารย์ ดร.ภูมิน นุตรทัต นักวิจัยสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
4.คุณ อติวิชญ์ นิลทะรัตน์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนาคารผึ้งและชันโรงบางแก้วภาคใต้ (ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ภาคใต้) ซึ่งดำเนินรายการเสวนา โดย ผศ.ดร.สิรยา สิทธิสาร รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา
จากนั้นเป็นการเยี่ยมชมบูธนิทรรการแสดงผลงานวิจัยพร้อมใช้และนวัตกรรมจากผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น จำนวน 18 บูธ ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและนักวิจัยที่เข้าร่วมงานในวันนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลนวัตกรรมและองค์ความรู้จากงานวิจัยกันอย่างทั่วถึง รวมถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เยี่ยมบูทที่มาร่วมจัดพร้อมให้ข้อสเนอแนะและแนวทางที่มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ตามวิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ต่อไป