Songkhla lagoon Gyotaku จากศิลปะโบราณของญี่ปุ่นสู่การเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา

Songkhla lagoon Gyotaku จากศิลปะโบราณของญี่ปุ่นสู่การเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา

31 ต.ค. 67 468

ภาพพิมพ์ปลา (Gyotaku) คืออะไร

ภาพพิมพ์ปลาหรือเกียวทาคุ (Gyotaku) เป็นศิลปะโบราณของญี่ปุ่นในการพิมพ์ปลาเพื่อเก็บภาพความทรงจำของปลา เริ่มตั้งแต่สมัยไดเมียว (กลางปี ค.ศ. 1800s) ในสมัยโบราณ ชาวประมงใช้วิธีการนี้เพื่อเก็บหลักฐานการจับปลาของชาวประมง ในยุคที่ยังไม่มีกล้องถ่ายภาพ การทำเกียวทาคุมีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมกันคือ การใช้หมึกทาที่ตัวปลาแล้วพิมพ์ตัวปลาลงบนกระดาษ จากจุดเริ่มต้นนี้ ได้กลายมาเป็นศิลปะที่เป็นที่นิยมทั่วโลก

   

จุดเริ่มต้นของการทำ Songkhla lagoon Gyotaku

            ครั้งแรกมีโอกาสเรียนรู้การทำภาพพิมพ์จากกิจกรรม workshop "จะนะเกียวทาคุ จากภาพพิมพ์ปลาสู่เมนูอาหาร" ซึ่งจัดโดย Around the Room Studio และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ในงานปักษ์ใต้ ดีไซต์วีคที่จังหวัดสงขลา หลังจากได้ร่วมกิจกรรม workshop ทำให้มีแนวคิดว่า กิจกรรมการทำภาพพิมพ์ปลาสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อทำกิจกรรมในงานวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของปลาในทะเลสาบสงขลา จึงมีการศึกษาเพิ่มเติมหาความรู้จากสื่อต่างๆ และนำความรู้ที่ได้มาทดลองทำภาพพิมพ์ปลา เพราะการทำภาพพิมพ์ปลามีความละเอียดในหลายขั้นตอน ทั้งชนิดของกระดาษ ผ้า หมึกที่ใช้ในการทำภาพพิมพ์ปลา และเทคนิคในการกดรีดผ้าให้มีความเหมาะสมกับปลาแต่ละชนิด มีการทดลอง ทำซ้ำหลายร้อยครั้ง จนกระทั่งได้เทคนิคที่เหมาะสมสำหรับการใช้ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กและชุมชนในพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

เชื่อมโยงระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์สู่กิจกรรมการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ

               ภาพพิมพ์ปลาเป็นงานศิลปะ  ที่ใช้ทรัพยากรรอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน แต่อย่างไรก็ตาม การทำภาพพิมพ์ปลาเป็นงานที่ผสมผสานระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ ระหว่างการทำกิจกรรมการทำภาพพิมพ์ปลาจะทำให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับ โครงสร้างต่างๆ ของปลา เช่น เกล็ด ครีบ ลักษณะของลำตัว การใช้หมึกทาลงบนตัวปลาและระหว่างการใช้มือกดและรีดเบาๆ ลงไปบนผ้าเพื่อให้หมึกติดกับผ้านั้น เด็กจะมีเวลาในการสังเกตโครงสร้างเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถเรียนรู้ลักษณะที่สำคัญของปลาแต่ละชนิดและเรียนรู้ลักษณะที่แตกต่างกันไปของปลาแต่ละชนิด ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถประยุกต์ใช้การทำภาพพิมพ์ปลากับการเรียนรู้ความหลากหลายของปลาในทะเลสาบสงขลาได้เป็นอย่างดี

     

      

      

           

ประโยชน์ของกิจกรรมภาพพิมพ์ปลา

               กิจกรรมภาพพิมพ์ปลาเป็นกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ โดยใช้การทำงานของสมองเป็นฐาน (brain base learning)  เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีประสบการณ์เรียนรู้ โดยคำนึงถึงความสามารถของเด็กแต่ละคน เด็กแสดงออกได้อย่างอิสระในการเลือกชนิดและขนาดของปลา เด็กได้ฝึกทักษะในการสังเกตรายละเอียดของปลาก่อนการลงทาหมึกลงบนตัวปลา การซับน้ำบริเวณตัวปลาให้แห้งช่วยให้เด็กได้สังเกตุลักษณะและรายละเอียดของปลาเพิ่มเติม การทาหมึกลงบนตัวปลาได้พัฒนากล้ามมเนื้อมัดเล็ก (fine motor) มีการทำงานประสานกันระหว่างสายตาและมือ ระหว่างการทาหมีกลงบนตัวปลา เด็กจะได้สังเกตความสมบูรณ์ของสีที่ทาลงไปบนตัวปลา ได้ฝึกสมาธิ ใจจดจ่อกับกิจกรรมที่กำลังทำ นอกจากนี้ ในการทำงาน เด็กยังมีโอกาสได้แบ่งปัน ช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อน เป็นการช่วยพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคม ดังนั้น กิจกรรมนี้จึงเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเด็ก ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ในชีวิต รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างจิตสำนึกให้เด็ก รัก หวงแหนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

      

Songkhla lagoon Gyotaku - หนึ่งในกิจกรรมของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้

            ทางโครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning city) ภายใต้โครงการ “ทะเลสาบสงขลา นิเวศสามน้ำ การเรียนรู้เพื่อพัฒนากลไกเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และยั่งยืน” ได้พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหลายกิจกรรม หนึ่งในกิจกรรมของโครงการคือ “Songkhla lagoon Gyotaku” เป็นกิจกรรมที่ใช้การทำภาพพิมพ์ปลามาเป็นกิจกรรมในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ให้รู้จักทรัพยากรในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยจะมีการจัดกิจกรรมให้กับหน่วยงานและโรงเรียนรอบทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ โครงการ “Songkhla lagoon Gyotaku” ยังเป็นการเก็บรวบรวมความหลากหลายและการแพร่กระจายของสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาโดยมีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตอนนี้ทางโครงการวิจัยกำลังดำเนินกิจกรรมในหลายพื้นที่ มีการจัดกิจกรรมประกวด “Songkhla lagoon Gyotaku contest” โดยการประกวดครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่บ้านปากประ ในงาน Learning week และครั้งต่อไปจะมีการจัดประกวดที่ตลาดใต้ถุน เทศบาลปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ถ้าหน่วยงานหรือโรงเรียนใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เตือนตา ร่าหมาน คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ

   

         

 

เขียนและเรียบเรียงบทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เตือนตา ร่าหมาน อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

#Gyotaku #ภาพพิมพ์ปลา #TSUNews #สื่อสารสาธารณะ #knowledgeSharing #คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล #มหาวิทยาลัยทักษิณ