ในปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นเรื่องสำคัญระดับโลก การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย รวมถึงการสร้างโอกาสทางการทำงานระหว่างประเทศ จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและแนวทางในการจัดการปัญหานี้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 Prof.Dr.Takaaki KATO จาก The University of Kitakyushu ประเทศญี่ปุ่น ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านปัญหาขยะทะเลพลาสติก (Marine plastic debris) และมาตรการแก้ไขปัญหาในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการจัดการภัยพิบัติร่วมกับนักวิจัยและประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการรับมือกับภัยพิบัติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ การศึกษาผลกระทบการจัดการขยะชุมชนที่มีผลต่อระบบนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดย ผศ.ดร.พีรนาฏ คิดดี การพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามและช่วยเหลือผู้สูงอายุในสถานการณ์น้ำท่วม โดย ผศ.ดร.ก้องกิดากร บุญช่วย และการนำเสนอแอปพลิเคชันในการวัดความสูงต้นไม้และการกักเก็บคาร์บอนในสวนยางพารา โดย ดร.ณภัทร แก้วพิบาล
ในช่วงบ่ายคณะผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานระบบการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่เกาะกลางโตนแพรทอง ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ที่มีการติดตั้งสถานีโทรมาตรเพื่อวัดระดับน้ำและการพยากรณ์น้ำ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และโครงการ "ศรีนาคาโมเดล" ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความยั่งยืนในชุมชนผ่านกลุ่มสมาชิกในพื้นที่โดยมีมหาวิทยาลัยทักษิณ และหน่วยงานภาคท้องถิ่นรวมถึงผู้ประกอบการเข้าร่วมในการดำเนินการ
การประชุมและแลกเปลี่ยนความรู้ในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสานสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของชุมชนมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
........................................................................
ภาพ : สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยทักษิณ
#สถาบันวิจัยและนวัตกรรม #นานชาติ #งานวิจัย #ไทยญี่ปุ่น #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSU #TSUNews