ความรู้ท้องถิ่นกับการเคลื่อนเปลี่ยนสู่อนาคต

18 ธ.ค. 66 3576

"ความรู้ท้องถิ่นกับการเคลื่อนเปลี่ยนสู่อนาคต"

       คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “นิธิกับการสถาปนาความรู้ท้องถิ่น (ภาคใต้)” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงความกตเวทิตาและระลึกถึงการจากไปของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักวิชาการคนสำคัญของสังคมไทย ที่ถือเป็นอีกหนึ่งนักวิชาการที่ได้ผลิตสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นภาคใต้ไว้จำนวนมาก คณะฯ ชวนข้าพเจ้าเข้าร่วมกิจกรรม และกล่าวปัจฉิมกถาในหัวข้อ “ความรู้ท้องถิ่นกับการเคลื่อนเปลี่ยนสู่อนาคต”
       แม้จะตอบรับด้วยความเต็มใจแต่ก็หวั่นใจและหนักใจไม่น้อยทีเดียว ด้วยเหตุว่า ในระยะหลังมานี้ข้าพเจ้าไม่ได้เกาะติดสนามวิชาการด้านท้องถิ่นมากนัก ในทางวิชาการเองก็มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงการดำรงอยู่ พลวัต พลังและการมีอยู่จริงของท้องถิ่นทว่าเมื่อจะออกจากฝั่งใยต้องหวั่นไหวกับมรสุมคลื่นลม?

     ความน่าสนใจหนึ่งหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องโดยตรงกับท้องถิ่น คือ การเกิดกระแสแนวคิด “ทบทวนโลกาภิวัตน์” (Rewiring Globalization) บทบาทและความสำคัญที่ลดลงของ โลกาภิวัตน์ หรือ “โลกาภิวัตน์ที่ลดลง” (Deglobalization) ในช่วง 3 - 4 ปีมานี้ รูปธรรม เช่น มูลค่าทางการตลาด การส่งออกสินค้าที่ลดลงทั่วโลก การกีดกันทางการค้า การส่งเสริมการตลาดและสนับสนุนการเติบโตตลาดภายในประเทศ การยกเลิกการผลิตสินค้าในต่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้ง เป็นต้น ในทางกลับกันโลกาภิวัตน์ที่ลดลง คือการกลับมาอย่างมีนัยสำคัญของรัฐชาติ สำคัญและบทบาทที่ใหญ่โต ครอบคลุมมิติต่าง ๆ อย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อีกประการหนึ่งคือ บทบาท ความสำคัญ ความคาดหวัง และจินตนาการใหม่ ที่ต่อความเป็นท้องถิ่นหรือท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization) ที่แต่เดิมถูกมองว่าเป็นกระแสรอง/ทางเลือกคู่ขนานไปกับความเป็นโลกาภิวัตน์

     ข้าพเจ้าเห็นว่า “ถนนทุกสายกำลังมุ่งสู่ท้องถิ่น” ทั้งในฐานะปราการทางวัฒนธรรม การเป็นทุนทางสังคม และตาข่ายนิรภัยทางสังคม อันเป็นทางเลือกทางรอดใหม่ของผู้คนในท่ามกลางความยากลำบากจากบริบทและสถานการณ์รายรอบ ด้านหนึ่งคือการขุดทอง แสวงหา หยิบฉวยผลประโยชน์ไปจากท้องถิ่น จากวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนเข้าสู่วิถีใหม่ ทุนนิยมรุกคืบและนโยบายการพัฒนาน้อยใหญ่ พูดอีกแบบหนึ่งในมิติการพัฒนา ท้องถิ่นยังคงตกเป็นเบี้ยล่างของการพัฒนา ถูกแช่แข็งไว้ได้ด้วยนโยบายและการตัดสินใจแบบรวมศูนย์ การแสวงหาการดูดทรัพยากรไปจากท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ ๆ และการทำให้เล็กและอ่อนแอลงด้วยสถานการณ์ ข้ออ้างเฉพาะหน้า ท้องถิ่นวันนี้ จึงเป็นเหมือน “ม้าแคระ” ที่ถูกคาดหวังให้ “แบกรับ” ภารกิจใหม่ตลอดเวลา ขณะเดียวเดียวกันก็ถูกเตะตัดขา ริดรอน ตัดตอน ดึงดูดทรัพยากรนา ๆ เข้าสู่การพัฒนาที่ไม่แน่นอน ไร้ทิศทาง ไร้ทางออก  เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากฐานทรัพยากรอย่างขนานใหญ่ เป็นต้น

     จริงอยู่ว่า ในช่วงหลายสิบปีมานี้ท้องถิ่นจะสามารถสั่งสมความรู้ ยกระดับภูมิปัญญา สร้างทางเลือก ต่อยอดการพัฒนาได้หลากหลายมิติ มีพื้นที่รูปธรรมมากมายให้เรียนรู้และศึกษาได้ รวมถึงการยืนหยัดปกป้อง รักษาความเป็นท้องถิ่นไว้ผ่านความเข้มแข็งภายใน การสร้างเครือข่าย - ขยายแนวร่วมใหม่ ได้ในหลายจุด หลายพื้นที่ หลายประเด็น แต่ก็ต้องใช้พลังและการลงแรงของผู้คนมหาศาล
     ข้าพเจ้าจึงเสนอว่า การสร้างพลังโต้ของท้องถิ่น ที่จะทำให้เกิดท้องถิ่นภิวัตน์ สามารถปฏิสัมพันธ์กับโลกที่อยู่ใกล้ไกลออกไป เป็นท้องถิ่นที่เชื่อมโลกหรือ Glocalization (Global + Local) อย่างลงตัว สมสมัย เกิดการสร้างสรรค์ การแสวงหาทางเลือกใหม่ของการพัฒนา และที่สำคัญคือ นวัตกรรมสังคม
     
การโต้กลับของท้องถิ่น ต้องใช้พลังความรู้ แต่ไม่ใช่ความรู้ในแบบที่เรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน หรือปัญญาชนชาวบ้านในแบบเดิมที่รับรู้ หากคือ 
     การเขียนองค์ความรู้ใหม่ จากการผสมผสานองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ตำรา ตำรับประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เข้ากับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมสังคม อย่างลงตัว สร้างระบบปฏิบัติการและพื้นที่รูปธรรมด้วยองค์ความรู้ที่เขียนขึ้นมาใหม่ ๆ ในพื้นที่ ประเด็น และสถานการณ์นั้น 
     ยกระดับความรู้ และคุณค่าจากความรู้ใหม่ที่เขียนด้วยแนวคิดใหม่ในมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนจากข้างล่าง เช่น อาจหมายถึงการผลักดันแนวคิดเรื่องโลคอลสู่เลอค่า การประกอบการฐานรากตลอดห่วงโซ่คุณค่า การสร้างระบบสวัสดิการเกื้อกูลถ้วนหน้า การท่องเที่ยววิถีท้องถิ่น เป็นต้น ที่สำคัญคือการสร้างระบบปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของหลายภาคี โดยมีท้องถิ่น พลเมืองท้องถิ่นเป็นฐานขับเคลื่อนที่สำคัญ ทำให้เกิดผลประโยชน์ เกิดดอกผลที่ต่อเนื่องกับท้องถิ่นและผู้คนในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆหนุนเนื่องให้เกิดสำนึกความเป็นท้องถิ่น เกิดพลังพลเมืองและเครือข่ายใหม่ที่ข้ามพ้นขั้ว กลุ่มความสัมพันธ์แบบเดิมที่ตรึงด้วยผลประโยชน์ การอุปถัมภ์ และอำนาจ 
     ท้องถิ่นในภาพรวมต้องผนึกกำลัง ผสานพลังใหม่ทุกชั้นชน ร่วมกันเปิดพื้นที่สนทนาทางความคิด ความรู้ และการปฏิบัติการร่วมที่ต่อเนื่อง เพื่อความชอบธรรมในการสถาปนาความรู้ “วาระเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” แบบมีทิศทาง เช่น กระจายอำนาจ การจัดการตนเอง อำนาจชุมชน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาอาจขาดตอนและเลือนหายไป อันเนื่องมาจากวาระที่กระจัดกระจาย ไปตามสไตล์ องค์กร หน่วยงาน
    เมื่อเชื่อมโยงกับบทบาทของอาจารย์นิธิ กับการสร้างท้องถิ่นโต้กลับในข้างต้น และข้อเสนอจากนักวิชาการหลายท่านในการสัมมนาครั้งนี้ ต่างเห็นตรงกันว่านักวิชาการเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ แต่ไม่ใช่นักวิชาการ/ปัญญาชนที่อยู่บนหอคอยงาช้าง หรือเป็นเพียงปัญญาชนเชิงประเด็น/สถานการณ์ แต่ต้องมี มุมมอง อุดมการณ์ และการปฏิบัติการที่เรียกว่า “ปัญญาชนสาธารณะ” แน่นอนว่าไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน ๆ ไม่มีวันที่จะมีนิธิ 2 การร่วมกันเปิดพื้นที่เขียนความรู้ การประสานพลังใหม่ และการปฏิบัติการที่ต่อเนื่อง จะทำให้ท้องถิ่นสำแดงตัวตน แสดงบทบาท ยืนยันตัวตน และการมีอยู่จริงของท้องถิ่นอย่างไม่ต้องสงสัย แม้มีมรสุมและคลื่นลมแรง เมื่อตั้งใจออกจากฝั่ง อย่าลังเล!

   

เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ 
ภาพ : งานสื่อสารองค์กร