นักวิจัย ม.ทักษิณคิดค้นนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ FARNI-FEED  เลี้ยงปลาสวยงามกินเนื้อต้านทานโรคสามารถพัฒนาเป็นพ่อแม่พันธุ์

นักวิจัย ม.ทักษิณคิดค้นนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ FARNI-FEED เลี้ยงปลาสวยงามกินเนื้อต้านทานโรคสามารถพัฒนาเป็นพ่อแม่พันธุ์

28 ก.พ. 66 2398

นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณคิดค้นนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับปลาสวยงามกินเนื้อขนาดเล็ก ดันเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบชื่อ Farni-Feed อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารที่ช่วยให้ปลาเจริญเติบโตรวดเร็ว มีความสมบูรณ์เพศและพัฒนาเป็นพ่อแม่พันธุ์ รวมทั้งกระตุ้นความต้านทานโรคและช่วยให้ปลามีสีสันสวยงามเหมาะสำหรับนักเลี้ยงปลามืออาชีพ เหมาะสำหรับ กลุ่มอาหารปลาสวยงาม ปลาหางนกยูง ปลาเสือเยอรมัน ปลากัด ปลาเชอรีบาร์บ ปลาแพะ ปลาหมอสีขนาดเล็ก เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นักวิจัยเจ้าของผลงานประดิษฐ์คิดค้น สูตรอาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับปลาสวยงามสูตรอาหารอนุบาลลูกปลาและเลี้ยงปลาระยะวัยรุ่นและกรรมวิธีการผลิต กล่าวถึง Farni-Feed ผลิตภัณฑ์ต้นแบบว่าเป็นการพัฒนาส่วนผสมของวัตถุดิบอาหารปลาให้มีสัดส่วนโปรตีน และไขมันที่เหมาะสมกับปลาก้างพระร่วง โดยกระบวนการผลิตทำให้ได้ลักษณะอาหารแบบแผ่นแบนขนาดเล็กที่สามารถลอยบนผิวน้ำได้เป็นระยะเวลานาน โดยอาศัยหลักการของแรงตึงผิว



 

          อาหารดังกล่าวจะค่อยๆ จมตัวลงในน้ำอย่างช้าๆ ซึ่งจะคล้ายกับลักษณะของอาหารตามธรรมชาติของปลาก้างพระร่วงที่พบว่าส่วนใหญ่จะกินแมลงมีปีกขนาดเล็กที่ตกลงบนผิวน้ำเป็นอาหาร ความมุ่งหมายของการประดิษฐ์นี้คือเพื่อให้ผลิตอาหารสำหรับปลาก้างพระร่วงระยะวัยรุ่นที่มีคุณค่าทางอาหารตรงกับความต้องการของปลา มีผลให้ปลาเจริญเติบโตรวดเร็ว มีประสิทธิภาพการใช้อาหารที่ดี ก่อให้เกิดของเสียสะสมในการเลี้ยงน้อย โดยมีกรรมวิธีการผลิตที่ทำให้อาหารมีลักษณะการลอยตัวในน้ำที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการกินอาหารของปลาก้างพระร่วง ทำให้ควบคุมปริมาณอาหารได้ง่าย เก็บรักษาได้ง่าย และมีคุณค่าสม่ำเสมอ กรรมวิธีการผลิตใช้วัตถุดิบ และเครื่องมือที่สามารถจัดหาได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม กล่าว

          "ปัจจุบันอาหารปลาสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายทั่วไปมักออกแบบสูตรอาหารให้เหมาะสมสำหรับกลุ่มปลาสวยงามประเภทกินทั้งพืชทั้งสัตว์ มีระดับโปรตีนอยู่ในช่วง 30-38% แต่ปลาสวยงามหลายชนิดเป็นปลากินเนื้อ เช่นปลาหมอสี ปลาเทวดา ปลาปอมปาดัวร ปลาก้างพระร่วง และกลุ่ม catfish สวยงามหลายชนิด ซึ่งมีความต้องการโปรตีนในอาหารมากกว่า 40% แต่ยังไม่มีอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาและตรงตามความต้องการของปลากลุ่มนี้"

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม กล่าวอีกว่าจากความรู้ในการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาจึงได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารปลา FARNi feed ขึ้นโดยได้ออกแบบสูตรอาหารให้ตรงตามความต้องการของปลาสวยงามกินเนื้อขนาดเล็กเหล่านี้ มีโปรตีนมากกว่า 42% ตลอดจนสารอาหารและกรดไขมันที่เพียงพอสำหรับความต้องการของปลาสวยงามกินเนื้อรวมทั้งแคโรทีนอยด์เพื่อช่วยให้ปลามีสีสันสวยงาม อาหารปลา FARNI feed ยังออกแบบสูตรอาหารมาเพื่อช่วยให้ปลาเติบโตแข็งแรงและพัฒนาเป็นพ่อแม่พันธุ์ สำหรับนักเลี้ยงปลาสวยงามที่ต้องการเพาะขยายพันธุ์ปลาได้เอง


 

 

....................................
ที่มาจากทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยทักษิณ
เรื่อง สูตรอาหารอนุบาลปลาและเลี้ยงปลาระยะวัยรุ่นและกรรมวิธีการผลิต
เลขที่คำขอ 2103003438
ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม
สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ