ม.ทักษิณ เปิด 37 รายวิชาออนไลน์ รายวิชาศึกษาทั่วไป ลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบัน ฟรี !! เทียบโอนเครดิตได้ ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ “TSU–GE for All”
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดงาน "BETTER THAILAND การปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่ออนาคตประเทศไทย" ซึ่ง รมต.อว.ศุภมาส อิศรภักดี ประกาศเดินหน้านโยบายปฏิรูปอุดมศึกษา “2 ลด 2 เพิ่ม” ลดภาระ-ลดเหลื่อม ล้ำ-เพิ่มทักษะ-เพิ่มโอกาส คือ ลดภาระของนักศึกษาและผู้ปกครอง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการปรับการจัดการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาที่เก่งและมีศักยภาพ สามารถเรียนจบได้เร็วขึ้น อาจจะใช้เวลาเรียนจบเพียง 2 หรือ 3 ปี ได้อย่างมีคุณภาพ เช่น ให้นักศึกษาสามารถลงเรียนรายวิชาต่างๆ ได้มากขึ้น ในบางรายวิชาเช่น การศึกษาทั่วไป (General Education) อาจจะจัดการเรียนในแพลตฟอร์มออนไลน์ และให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตั้งแต่มัธยมและสะสมการเรียนไว้ในระบบคลังหน่วยกิตและนำมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ประกอบกับการเปิดเผยของ กระทรวง อว. สำหรับ 88 รายวิชานำร่อง ใน 12 มหาวิทยาลัย ที่พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปข้ามสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็น 1 ใน มหาวิทยาลัยที่เปิดให้ลงทะเบียนเรียนมากที่สุดถึง 37 รายวิชา
ในประเด็นดังกล่าวรองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร บุญมาก รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เปิดเผยถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยทักษิณต่อการสนองนโยบายของกระทรวง อว. และขับเคลื่อนการลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปข้ามสถาบันอุดมศึกษาว่า มหาวิทยาลัยทักษิณได้ดำเนินการปรับปรุงรายวิชา หมวดวิชาศึกษาทั่วไปของหลักสูตรปริญญาตรี ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2567 ซึ่งมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของบัณฑิตให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะการเป็นนวัตกรรมสังคมและการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565 แล้วนั้น
เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปข้ามสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยทักษิณเปิดโอกาสให้ผู้เรียนต่างสถาบันสามารถเลือกเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยทักษิณข้ามสถาบันได้ โดยลงทะเบียนเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย จำนวนมากกว่า 37 รายวิชา ซึ่งเป็นรายวิชาออนไลน์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-paced Learning) 100% ที่ผู้เรียนต่างสถาบันสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถาบันทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ “TSU for All” ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งผู้เรียนต่างสถาบันสามารถได้รับเกียรติบัตรของรายวิชาศึกษาทั่วไปออนไลน์หลังผ่านการประเมินผลและนำหลักฐานการเรียนรู้ล่วงหน้าตามอัธยาศัยไปใช้ในการขอรับการเทียบโอนรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปในสถาบันตนเอง ภายใต้หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดของสถาบันฝั่งรับเทียบโอน
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณมีความพร้อม ต่อการรองรับการลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปข้ามสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากมหาวิทยาลัยทักษิณ มี“การจัดการเรียนรู้รูปแบบผสมผสาน” (Blended Learning) คือ การจัดการเรียนรู้ระหว่างการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบประสานเวลา (Synchronous Learning) ที่ผสมผสานกับการเรียนรู้ออนไลน์แบบไม่ประสานเวลา (Asynchronous Learning) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนิสิตอย่างมีความหมาย ตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชาและยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
“การเรียนรู้ในชั้นแบบประสานเวลา” (Synchronous Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้แบบเผชิญหน้าในชั้นเรียนปกติที่นิสิตและผู้สอนมีความพร้อมในขณะเวลาเดียวกัน ตามตารางเรียนประจําภาคเรียนที่มหาวิทยาลัยกําหนด
“การเรียนรู้ออนไลน์แบบไม่ประสานเวลา” (Asynchronous Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยนิสิตและผู้สอนไม่ต้องมีความพร้อม ในขณะเวลาและสถานที่เดียวกัน เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดเตรียมเนื้อหาบทเรียน กิจกรรม และการวัดประเมินผลต่าง ๆ ไว้บนระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS) สําหรับให้นิสิตสามารถเข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Paced Learning) ในเวลาที่สะดวก และเรียนรู้ได้ตามอัตราการเรียนรู้ที่เหมาะสมตนเอง โดยกำหนดให้การจัดการศึกษาในระดับรายวิชาออนไลน์ให้มีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 การประยุกต์ใช้สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านที่ 2 การประยุกต์รูปแบบการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านที่ 3 การประยุกต์ใช้สื่อการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านที่ 4 การประยุกต์ใช้กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านที่ 5 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยทักษิณได้เตรียมความพร้อมของการจัดการเรียนรู้ เพื่อรองรับการลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปข้ามสถาบันอุดมศึกษา โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) การจัดการศึกษาแบบผสมผสานในรายวิชาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นการเรียนออนไลน์และการเรียนในชั้นเรียน โดยที่เนื้อหาส่วนใหญ่ส่งผ่านในระบบออนไลน์ โดยใช้การอภิปรายออนไลน์และมีการพบปะกันในชั้นเรียนบ้าง และมีส่วนที่น่าสนใจว่า การอภิปรายออนไลน์ถือเป็นการส่งผ่านเนื้อหาออนไลน์เช่นกัน ซึ่งเป็นทั้งรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้สอนและผู้เรียนต้องมีความพร้อมในขณะเวลาเดียวกัน (Synchronous Learning) และรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่ต้องมีความพร้อมในขณะเวลาเดียวกัน (Asynchronous Learning) โดยเริ่มใช้กับหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ฉบับปรับปรุง 2567 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ทั้งระบบ
2. เปิดรายวิชาออนไลน์สำหรับนิสิตภายในมหาวิทยาลัย เป็นการนำรายวิชาศึกษาทั่วไปของหลักสูตรปริญญามาพัฒนาเป็นรายวิชาออนไลน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ภายใต้การจัดการเรียนการสอน แบบ Flipped classroom ที่ออกแบบให้นิสิตสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจากระบบออนไลน์จากวีดิทัศน์และหรือสื่อประสมที่ผู้สอนผลิตขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนการสอนระบบ Moodle ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้แบบปิด ที่จำกัดจำนวนเฉพาะนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่นิสิตและผู้สอนไม่ต้องมีความพร้อมในขณะเวลาเดียวกัน (Asynchronous learning) ในขณะที่ การเรียนรู้ในห้องเรียนเป็นการใช้เวลาสำหรับฝึกทักษะหรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่นิสิตและผู้สอนต้องมีความพร้อมในขณะเวลาเดียวกัน (Synchronous learning)
3. เปิดรายวิชาออนไลน์สำหรับบุคคลทั่วไปเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในหลักสูตรปริญญาของมหาวิทยาลัยทักษิณที่นำมาจัดการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อเพิ่มพูนทักษะและความรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนและผู้สอนไม่ต้องมีความพร้อมในขณะเวลาเดียวกัน (Asynchronous learning) โดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self-paced learning) และมีการวัดผลการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มการศึกษาระบบ Open edX ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้แบบเปิดใช้งานทั่วโลกสำหรับรายวิชาออนไลน์แบบ MOOC (Massive Open Online Course) https://thaimooc.org/ ซึ่งผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิต เทียบโอนเข้าสู่ระบบคลังหน่วยกิตมหาวิทยาลัยทักษิณ (TSU Credit Bank) รวมถึงเป็นแนวทางสำหรับการจัดการศึกษาแบบ Pre-Degree ของมหาวิทยาลัยที่เปิดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ทั้งนี้ระบบคลังหน่วยกิต (TSU Credit Bank) พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการสะสมหน่วยกิตผ่านการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ด้วยแพลตฟอร์ม TSU For All ของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://forall.tsu.ac.th/public/home.jsp
.............................
ผู้ให้สัมภาษณ์ : รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร บุญมาก รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#เรียนข้ามสถาบัน #โอนเครดิต # TSU_for_All #ฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ #ภารกิจรับนิสิต #TSUNEWS #มหาวิทยาลัยทักษิณ