ในการเข้าสู่สายงานวิชาชีพทนายความนั้น ในปัจจุบันนอกจากจะต้องเรียนจบหลักสูตรนิติศาสตร์แล้ว ยังจะต้องสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ หรือที่นักกฎหมายรู้จักกันดี การสอบตั๋วทนายความ ซึ่งสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้จัดสอบและจัดอบรม สำหรับการสอบตั๋วทนายล่าสุดประกาศผลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า นายอาดีล หัสบู นิสิตชั้นปีที่ 4 หลักสูตรนิติศาสตร์ (ภาคสมทบ) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นผู้สอบผ่านการทดสอบภาคทฤษฎี สำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความ รุ่นที่ 63 สภาทนายความ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน หลักร้อย จากจำนวนผู้เข้าสอบกว่า 10,000 คน ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าว TSU NEWS เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบตั๋วทนาย
ตั๋วทนายคืออะไร ความยากและความท้าทายของการสอบตั๋วทนายเป็นอย่างไร?
นายอาดีล หัสบู กล่าวว่าตั๋วทนาย คือใบเบิกทางของการเป็นนักกฎหมาย พูดง่าย ๆ ก็คือใบอนุญาตในการว่าความในชั้นศาล ความท้าทายของการสอบตั๋วทนายคือการขมวดการเรียนนิติศาสตร์ทั้งสี่ปีรวมเอาไว้ในการสอบครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎี หรือภาคปฏิบัติ โดยจะต้องเรียนรู้ถึงทฤษฎีการวินิจฉัยการวิเคราะห์รวมถึงการตีความขั้นสูง ไม่ใช่แค่การถามและตอบคำถามได้แต่จะต้องทราบถึงกระบวนการวิธีคิดทางกฎหมายซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของการก้าวเข้ามาสู่การเป็นนักกฎหมาย และทนายความ
สำหรับขั้นตอนการสอบตั๋วทนาย การที่ใครสักคนจะประกอบอาชีพ “ทนายความ” ได้นั้น มี 2 วิธี คือ วิธีที่ 1. สอบผ่านหลักสูตรการอบรมวิชาว่าความของสภาทนายความ หรือเรียกว่า ตั๋วรุ่น เพราะจะเปิดสอบเป็นรุ่น ๆ ไป) หรือ วิธีที่ 2. สอบผ่านการทดสอบผู้ฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ ครบ 1ปี หรือเรียกว่า ตั๋วปี เพราะต้องฝึกหัดงานครบ 1 ปี จึงจะไปขอรับการทดสอบได้) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตั๋วรุ่น หรือตั๋วปี ซึ่งผู้ที่จะสมัครสอบได้ ต้องมีคุณสมบัติตามที่สภาทนายความกำหนด หลังจากนั้น ต้องไปสมัครกับสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ แห่งสภาทนายความ ดังนี้
1. ตั๋วปี ผู้สมัครต้องฝึกงานในสำนักงานทนายความ ครบ 1 ปี แล้วไปลงทะเบียนสอบ
2. ตั๋วรุ่น ผู้สมัครต้องสมัครอบรมวิชาว่าความกับสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ ซึ่งสำนักอบรมจะเปิดเป็นรุ่นๆไป ซึ่งช่วงแรกจะเป็นการอบรมภาคทฤษฎี 6 เดือน ถ้าสอบผ่านภาคทฤษฎี ก็จะได้ฝึกภาคปฏิบัติ อีก 6 เดือน
ถ้าสอบภาคปฏิบัติผ่านจะต้องสอบสัมภาษณ์ ถ้าสอบสัมภาษณ์ผ่าน และได้รับการอบรมจริยธรรมและมารยาททนายความ ซึ่งสามารถยื่นขอจดทะเบียนรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความกับสภาทนายความได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นตั๋วปี หรือตั๋วรุ่น เมื่อสอบผ่านและได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความแล้ว ล้วนแต่มีศักดิ์และสิทธิของการเป็นทนายความเท่าเทียมกันทุกประการ
การเตรียมตัวสำหรับสอบตั๋วทนายทำอย่างไร?
การเตรียมตัวสอบตั๋วทนายเริ่มจากการหาแนวข้อสอบของการสอบตั๋วทนายและเริ่มจัดตารางการอ่านสอบ และต้องวางแผนการอ่านหนังสือให้เรียบร้อยแล้วก็ตั้งใจให้ทำตามที่วางไว้ โดยส่วนตัวผมผมจะแบ่งระยะเวลาในการอ่านเนื้อหาในส่วนเเพ่งเป็นเวลา 1 เดือนเต็มไม่ว่าจะเป็นคำฟ้อง คำร้อง คำขอ คำเเถลง และในส่วนอาญากับมรรยาททนายใช้เวลาอ่านประมาณ 15 วัน เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ง่าย และหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือผมใช้เวลา 2 เดือนหลังจากอ่านครบทุกเนื้อหาในการทำข้อสอบเก่า เพื่อให้การเขียนตอบคล่องมากขึ้น และ เนื้อหาที่อ่านนั้นผมไม่ดูว่า สถิติการออกข้อสอบจะออกเรื่องอะไรมาก่อนหน้า ผมเน้นให้เข้าใจทุกเรื่อง เพื่อที่จะสามารถตอบได้ทุกข้อ นอกจากนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดโครงการอบรมเตรียมความพร้อมในการสอบตั๋วทนาย เปิดติวฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยล่าสุดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม - 5 มกราคม 2568
ตารางการติวเข้มสอบเตรียมพร้อมสอบตั๋วทนาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
เป้าหมายสูงสุดของการเรียนนิติศาสตร์คืออะไร?
เป้าหมายสูงสุดของผมและอาจจะบอกว่าได้ว่าของนิสิตทุก ๆ คน ที่ตั้งใจศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ คือการได้เป็นนักกฎหมายที่พร้อมจะช่วยเหลือทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเรื่องใด ส่วนอาชีพในฝันเป็นเป้าหมายหลักและต้องพิชิตให้ได้คือ ผู้พิพากษา
การสร้างแรงบันดาลใจให้กับนิสิตคนอื่น ๆ ในการเรียนด้านกฎหมาย?
จากประสบการของนายอาดีล หัสบู เล่าให้ทีมข่าวฟังว่าได้เรียนคณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ภาคบล็อกคอร์ส จะเห็นได้ว่าผมสามารถที่จะสอบตั๋วทนายผ่านได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนภาคไหน อยู่ที่ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความขยัน อีกทั้งการเรียนทางด้านกฎหมายใช่ว่าจะต้องใช้ความจำเสมอไป ถ้าหากเรื่องไหนที่ตนเองสนใจมาก ๆ จะทำให้การเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ เร็วขึ้น ใช้เทคนิคเรียนรู้จากความเข้าใจ เช่นผมสนใจในเรื่อง มรดก หนี้ และทรัพย์ พอมาได้เรียนทำให้รู้สึกว่าเนื้อหานั้นมันใกล้ตัวมาก ๆ ทำให้สนใจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรียนรู้เรื่องนั้น ๆ ได้เองเเบบรวดเร็ว ลองเปิดใจและความรู้สึกในการเเสวงหาความรู้ เรียนกฎหมายไม่ยากอย่างที่คิด
…………………………………………..
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ