ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดโครงการ Road to TSU Proud Academy เส้นทางสู่ตำเเหน่งทางวิชาการ มุ่งพัฒนาคณาจารย์เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 103 ท่าน จากหลากหลายคณะ
ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2567 ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล ศุกระกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการสภามหาวิทยาลัย จัดโครงการ Road to TSU Proud Academy โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยทักษิณให้เป็นไปตามเป้าหมาย (สัดส่วนร้อยละ ๕๕) เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ และการผลิตผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพของอาจารย์ รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาทักษะด้านวิชาการและการเตรียมพัฒนาผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น
โครงการนี้มีกิจกรรมทั้งหมด 8 วัน 8 หัวข้อ จาก 11 วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมากประสบการณ์ จากหลากหลายมหาวิทยาลัย เริ่มต้นปฐมนิเทศในวันที่ 9 เมษายน 2567 ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ รวมไปถึงเทคนิคการพัฒนาเอกสารประกอบการสอนไปเป็นเอกสารคำสอน และเทคนิคการพัฒนาเอกสารคำสอนไปเป็นตำรา โดย ศ.ดร.บุญเรียง ขจรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมหาวิทยาลัยทักษิณ
วันที่ 19 เมษายน 2567 สำหรับคณาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำผลงานทางวิชาการทางวิจิตรศิลป์ และแนวทางการประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิ โดย ศ.ดร.ชมนาด กิจขันธ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมหาวิทยาลัยทักษิณ
วันที่ 22 เมษายน 2567 เป็นการให้ความรู้เรื่อง การขอจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ผศ.ดร.ธิติมา ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยทักษิณ ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นการให้ความรู้เรื่องการทำผลงานทางวิชาการทางศึกษาศาสตร์ และแนวทางการประเมินผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิ โดย ศ.นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นการให้ความรู้เรื่อง การทำผลงานทางวิชาการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และแนวทางการประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิ โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมหาวิทยาลัยทักษิณ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เป็นการให้ความรู้เรื่อง การวางแผนดำเนินการและเผยแพร่ผลงานวิจัย โดย ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมหาวิทยาลัยทักษิณ ต่อกันในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เป็นการให้ความรู้เรื่อง การทำผลงานทางวิชาการทางสังคมศาสตร์ และแนวทางการประเมินผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิ โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ จากนิด้า กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมหาวิทยาลัยทักษิณ และปิดท้ายโครงการ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ด้วยเทคนิคการตรวจสอบการคัดเลือกวารสารเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิชาการในระดับนานาชาติ รวมถึงแหล่งสารสนเทศที่มีคุณภาพและเครื่องมือสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการวิจัย และบริการสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการวิจัย จาก 3 สาวบรรณารักษ์ได้แก่ นางสาวเนาวลักษณ์ แสงสนิท นางสาวขวัญชนก วิริยกุลโอภาศ และนางสาวธมลวรรณ ขุนไพชิต
ทุกกิจกรรมล้วนส่งเสริมการเดินทางในสายวิชาการของคณาจารย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เคยกล่าวไว้ในงานเปิดตัวโครงการ Road to TSU Proud Academy เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ว่า "การสร้างความรู้ และองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นหน้าที่ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และตำแหน่งทางวิชาการ คือ ดอกผลที่เกิดขึ้นจากการตระหนักในหน้าที่การทำงาน"
...............................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ # RoadtoTSUProudAcademy #เส้นทางสู่ตำเเหน่งทางวิชาการ #ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSUNEWS