สามสมเด็จเจ้าฯ พลังศรัทธาแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

สามสมเด็จเจ้าฯ พลังศรัทธาแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

17 เม.ย. 67 664

สมเด็จเจ้าพะโคะ สมเด็จเจ้าเกาะยอ สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พลังศรัทธาที่มีชีวิต

ความพิเศษของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คือ เป็นทะเลแบบ “ลากูน” (Lagoon) หนึ่งเดียวในประเทศ ที่มีระบบนิเวศสามน้ำ คือ น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ทะเลน้อย ทะเลหลวง ทะเลสาบสงขลาตอนกลาง และทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย และเป็น 1 ใน 117 แห่งทั่วโลก ที่จัดเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางธรรมชาติของทะเลสาบ ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช

นอกจากเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ ที่นี่ยังเป็นดินแดนแห่งมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของชุมชมตลอดริมฝั่งทะเลสาบ รวมถึงความเชื่อ ความศรัทธา และแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อันมี สมเด็จเจ้าพะโคะ สมเด็จเจ้าเกาะยอ และสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ เป็นศูนย์รวมใจและพลังศรัทธาของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามาอย่างยาวนานตราบปัจจุบัน

สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ในวัยเด็กมีชื่อว่า "ปู" เป็นบุตรนายหูกับนางจัน เป็นชาวตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ขณะเป็นทารกมีงูจงอางขนาดใหญ่เลื้อยมาพันเปลแล้วคายดวงแก้วไว้ให้ ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกุฎีหลวง (ปัจจุบัน คือ วัดดีหลวง จ.สงขลา) กับพระอาจารย์จวง จากนั้นได้เรียนพระธรรมบทกับพระชินเสน ณ วัดสีกุยัง (ปัจจุบันคือ วัดสีหยัง จ.สงขลา) ศึกษาต่อกับพระครูกาเดิม ณ วัดเสมาเมือง จ.นครศรีธรรมราช แล้วอุปสมบทโดยพระมหาเถรปิยะทสสีเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "สามีราม" ด้วยเป็นผู้ใฝ่ธรรมจึงเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อศึกษาเพิ่มเติม โดยขออาศัยเรือสำเภาของนายอิน พ่อค้าเมืองสทิงพระ ขณะแล่นเรือถึงชุมพรได้เกิดพายุใหญ่ พระสามีรามถูกตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นกาลกิณี จึงเกิดมรสุมวิปริต นายอินและลูกเรือจึงคิดนำท่านไปปล่อยเกาะ ครั้นพระสามีรามลงเรือเล็กได้ก็เอาเท้าของท่านข้างที่มีลักษณะทู่ แช่ลงในทะเล ปรากฏว่าน้ำทะเลนั้นกลายเป็นน้ำจืด ทุกคนในเรือจึงขอขมาโทษ เมื่อถึงอยุธยาได้พักอาศัยที่วัดแคและเรียนพระอภิธรรม ณ วัดลุมพลีนาวาส จนแตกฉานทางธรรม ท่านรับนิมนต์แก้ปริศนาธรรมให้เมืองอยุธยาสำเร็จ ได้รับพระราชทานสมนศักดิ์ เป็น"พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์" พระราชมุนีฯ จาริกรุกขมูลกลับสทิงพระ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ยากและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อถึงสทิงพระ ได้เข้าคารวะพระชินเสน พระอาจารย์จวง และบูรณะวัดพะโคะจนกลายเป็นศูนย์กลางเขตเมืองพัทลุงฝ่ายตะวันออก  ภายหลังมีตำนานจากต่างถิ่นว่า ท่านธุดงค์เข้าไปในเขตแดนเมืองไทรบุรี สร้างวัดไว้ที่นั่นหลายแห่ง คนทั่วไปเรียกว่า “ท่านลังกา”และยังได้สร้างวัดช้างไห้ขึ้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีอีกวัดหนึ่ง ท่านเดินทางไปมาระหว่างเมืองไทรบุรีกับวัดช้างไห้ จนกระทั่งมรณภาพที่ริมฝั่งน้ำสุไหงเกอร์นาริงค์ ประเทศมาเลเซีย เส้นทางที่นำรูปสังขารท่านกลับมาที่วัดช้างไห้ ชาวบ้านได้สร้างเป็นเครื่องหมายไว้กราบไหว้บูชาตลอดทาง โดยการทำพูนดินให้สูงขึ้นและปักไม้แก่นหมายไว้ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า "สถูปท่านลังกา" 

สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ เป็นชาวบ้านท้องบัว จังหวัดปัตตานี มีพี่น้องสามคน เมื่อครั้งเมืองปัตตานีเกิดความวุ่นวาย มีโจรสลัดบุกปล้นบ้านเมือง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ศึกแขก" สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่และพี่น้องจึงอพยพมายังเมืองสงขลา ผ่านเขาแดง เขาเขียว เกาะยอ บ้านป่าขาด เกาะราบ เกาะกระ เกาะสี่ เกาะห้า จนถึงเกาะใหญ่ และท่านได้พิจารณาว่าเกาะใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์จึงนำเรือเข้าจอดและจมเรือ ณ ที่นั่น ในเวลาต่อมา สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้สร้างวัด กุฏิและอุโบสถขึ้นบนภูเขา โดยมีกำแพงหินก่อลดหลั่นเจ็ดชั้น ให้ชื่อว่า “วัดสูงเกาะใหญ่” ในการสร้างอุโบสถนั้น ชาวบ้านเล่าว่าสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้นั่งสมาธิให้เกิดพลัง เพื่อยกก้อนหินขนาดใหญ่ไปวางเรียงกัน เรียกว่า "วิชาพลังเสือ" ภายหลังได้สร้างวัดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “วัดสูงทุ่งบัว” 

สมเด็จเจ้าเกาะยอ เป็นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ตามตำนานที่เล่าต่อปากสืบกันมาว่า ท่านเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระสหายหรือเพื่อนเกลอกับสมเด็จเจ้าพะโคะ สมเด็จเจ้าเกาะยอได้จาริกธุดงควัตรเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่คาบสมุทรสทิงพระ บั้นปลายชีวิตท่านเลือกพำนักอาศัยบนภูเขาที่สูงที่สุดของเกาะยอ ซึ่งมีบ่อน้ำที่เชิงเขาและไหลบริบูรณ์ตลอดปี ชาวบ้านเรียกว่า “บ่องอ” หรือ “บ่อสมเด็จเจ้า” ถือกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวเกาะยอและสานุศิษย์ได้สร้างกุฏิให้ท่านและใช้เผยแผ่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “เขากูฏิ” คือภูเขาที่ตั้งกุฏิของสมเด็จเจ้าเกาะยอ หลังจากมรณภาพที่ตำบลเกาะยอ ชาวบ้านและสานุศิษย์จึงสร้างเจดีย์แบบจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง พร้อมกับสร้างรูปเคารพแทนตัวท่าน ในลักษณะพระพุทธรูปจำนวน 4 องค์ ประดิษฐานไว้ที่จัตุรมุขขององค์เจดีย์

เรื่องราวของสามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มิใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าหรือรูปเคารพที่เอาไว้กราบไหว้ หากแต่เป็นความเชื่อ และพลังศรัทธาที่ยังคงโลดแล่น มีชีวิต ในชุมชนลุ่มทะเลสาบสามน้ำมาตราบจนทุกวันนี้ และเป็นที่น่าปิติยินดี ที่ประชาชนสามารถเดินทางมาสักการะสามสมเด็จเจ้าฯ ได้ครบทั้งสามองค์ที่จังหวัดสงขลาเพียงแห่งเดียว ณ ห้องสามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และประเพณีการเกิดและการบริบาล ห้องจัดแสดงกลุ่มอาคารหลังคาจั่ว พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา

........................................................................

ภาพ / เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ  

#สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา #สมเด็จเจ้าพะโคะ #สมเด็จเจ้าเกาะยอ #สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ #มหาวิทยาลัยทักษิณ #สถาบันทักษิณคดีศึกษา #พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา #TSUNEWS #TSU