ไม่เกินจริง หากจะกล่าวว่า...โลกใบนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการอยู่อาศัยและการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ก็ล้วนเป็นสิ่งตอบสนองรองรับทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ หากแต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสมดุล เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เรามีระบบนิเวศเป็นมาตรวัดดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การอยู่ร่วมกัน และการแบ่งปันประโยชน์ซึ่งกันและกันของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในระบบนิเวศ
เป็นความจริงอีกเช่นกัน ที่ว่า... ภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกวันนี้ ทั้งน้ำท่วม การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ฝุ่นควัน ภัยแล้ง มลพิษทางน้ำและอากาศ ภาวะโลกเดือด ล้วนมีสาเหตุหลักมาจากมนุษย์ นั่นเพราะรูปแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโลก ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มระดับมาเป็น การกอบโกย การแสวงหาผลประโยชน์และผลกำไร เราต่าง “ตักตวง” จากโลกมากเกินไป จนลืมเลือนไปว่า “เราต่างถูกสร้างมาเพื่อเกื้อกูลกัน”
ทีม TSU News จึงอยากชวนทุกท่านให้ตระหนักในประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “รอยเท้านิเวศ” (Ecological Footprint) รอยเท้านิเวศ คือ การวัดผลกระทบของกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยคำนวณจากปริมาณการบริโภค และปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แล้วเทียบกับอัตราการฟื้นฟูระบบนิเวศ เป็นแนวคิดที่ใช้ในการประเมินว่ามนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากโลกนี้มากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากพื้นที่ผิวโลกที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตทรัพยากรและดูดซับของเสียจากกิจกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ องค์ประกอบของรอยเท้านิเวศ หรือพูดให้เข้าใจง่าย คือ แหล่งที่ทำให้เกิดกิจกรรมสร้างรอยเท้านิเวศ มีหลักๆ ดังนี้
พื้นที่เกษตรกรรม สำหรับเพาะปลูกพืชอาหาร ใยพืช ตลอดจนพืชพลังงานและยางพารา
พื้นที่ปศุสัตว์ สำหรับเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ
พื้นที่ป่าไม้ สำหรับผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้
พื้นที่ประมงและแหล่งน้ำ สำหรับการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งจะคำนวณจากการผลิตขั้นต้นที่ใช้เพื่อจับปลาและสัตว์น้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล
พื้นที่ปลูกสร้าง รวมไปถึงชุมชนและพื้นที่สำหรับกิจกรรมมนุษย์สำหรับที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม เส้นทางคมมาคม และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
พื้นที่รองรับคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์
ทุกวันนี้ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์รุดไปไกลเกินกว่าการสร้างใหม่ของธรรมชาติจะวิ่งตามทัน ทุกกิจกรรมการดำรงชีวิตล้วนเร่งและเพิ่มรอยการใช้สอยทรัพยากรโลก การลดรอยเท้านิเวศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนของโลก มหาวิทยาลัยทักษิณ ก็ยืนหยัดมั่นคงในการเดินตามเส้นทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG - Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติ
"เราเดินบนพื้นทรายยังทิ้งรอยเท้าเอาไว้
แล้วการที่มนุษย์เราบริโภคทรัพยากรจะเกิดผลกระทบอะไรกับสิ่งแวดล้อมบ้าง"
ผศ.ดร.พีรนาฎ คิดดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้บอกเล่าแนวคิดเกี่ยวกับ “รอยเท้านิเวศ” ที่ใช้เป็นบทเรียนของเนื้อหารายวิชา รักตัวเรารักษ์สิ่งแวดล้อม (Love Me Love Environment) ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ว่าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร เมื่อความต้องการของมนุษย์มากเกินกว่าธรรมชาติสร้างได้ ผลกระทบที่ตามมานั้นช่างน่ากลัว บทเรียนนี้ถ่ายทอดผ่านการคำนวณการบริโภค การใช้ทรัพยากร และการใช้พลังงานอย่างง่าย เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรมนุษย์อาจจะดูเหมือนอยู่ในจุดที่เป็น “ผู้ใช้ประโยชน์หลัก” แต่ถ้ามองในมุมที่สมดุลกันเราจะพบว่า “ผู้ใช้” เท่ากับ “ผู้รับผิดชอบ ดูแล” และแน่นอนทีเดียวในฐานะผู้ได้ประโยชน์หลัก หน้าที่พิทักษ์อารักขาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรโลก ก็ต้องเป็นของมนุษย์ แค่เริ่มต้นในสิ่งที่เราพอจะทำได้ เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างของเสีย ใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาดมากขึ้น จริงจังกับการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ ดำเนินชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยความตั้งใจและทำให้เป็นนิสัย สำคัญที่สุด คือ พึงตระหนักว่า “โลก...เป็นของเรา” และ “เรา... เป็นของโลก”
………………………………………………………….
ข้อมูล : ผศ.ดร.พีรนาฎ คิดดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#รอยเท้านิเวศ #คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล #มหาวิทยาลัยทักษิณ #Knowledgesharing #Environment #SDG #TSU #TSUNews #WeTSU #Sustainability