Generative AI ทำอะไรได้มาก ไม่ยากเกินไป และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาเป็นตัวช่วยต่อเติม เสริมงานในหลากหลายสายอาชีพ
เทคโนโลยีได้ก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ซึ่งเปลี่ยนวิธีการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลอย่างสิ้นเชิง จากนั้นสมาร์ทโฟนก็มาปฏิวัติโลกของเราอีกครั้ง ด้วยการนำอินเทอร์เน็ตเข้ามาอยู่ในอุปกรณ์พกพา ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา ทั้งการค้นหาข้อมูล ติดต่อสื่อสาร และใช้งานแอปพลิเคชันมากมาย สมาร์ทโฟนกลายเป็นศูนย์รวมชีวิตดิจิทัลของเรา
และในปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา ด้วยความสามารถในการประมวลผลข้อมูลขนาดมหึมา สามารถเรียนรู้และปรับปรุงตัวเอง รวมถึงทำนายและวางแผนล่วงหน้าได้ AI จึงถูกประยุกต์ใช้ในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ จนถึงการเป็นผู้ช่วยดิจิทัลอัจฉริยะ
Generative AI หนึ่งในปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังมาแรง แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่อาจยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง จึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับ Generative AI กันแบบง่ายๆ สบายๆ ในสไตล์มือใหม่ในโลก AI
Generative AI หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า GenAI คือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ เสียง หรือแม้แต่วีดีโอได้โดยอัตโนมัติ โดยอาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อจับประเด็นและแบบแผนต่างๆ ในนั้น แล้วนำความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์ออกมาเป็นผลงานชิ้นใหม่ พูดง่ายๆ คือ GenAI มีความสามารถในการ “สร้างใหม่” ผ่านข้อความคำสั่งที่เราป้อนเข้าไป (prompt) นั่นเอง
Generative AI ที่เป็นที่รู้จักกันดี และมีฟังก์ชั่นที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด เช่น ChatGPT, DALL-E, Gemini, Claude, Midjourney เป็นต้น ยกตัวอย่างการใช้งาน เช่น
หากต้องการสร้างภาพจากข้อความ เราสามารถใช้ DALL-E หรือ Midjourney ในการสร้างภาพจากการพิมพ์คำบรรยายเข้าไป ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักออกแบบ ศิลปิน หรือแม้แต่ในการทำต้นแบบไอเดียในเชิงธุรกิจ
ตัวอย่าง: พิมพ์ (prompt) "A photorealistic image of a futuristic city on Mars" ระบบจะสร้างภาพตามที่เราบรรยาย
ถ้าต้องการสร้างบทความ เนื้อหา และบทประพันธ์ เราสามารถใช้ AI เช่น ChatGPT หรือ Claude ในการเขียนบทความ งานวิจัย บทกวี หรือเนื้อหาประเภทต่างๆ โดยกำหนดหัวข้อและรายละเอียดที่ต้องการ
ตัวอย่าง : พิมพ์ (prompt) "โปรดเขียนบทความเกี่ยวกับประโยชน์ของการเล่นกีฬาสำหรับเด็กวัยรุ่น ความยาว 500 คำ"
หรือหากต้องการสร้างโค้ดและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Generative AI สามารถช่วยพัฒนาโปรแกรมและเขียนโค้ดให้ได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่บรรยายความต้องการหรือฟังก์ชันที่ต้องการ
ตัวอย่าง : พิมพ์ (prompt) "สร้างฟังก์ชันภาษา Python ที่รับตัวเลข 2 ตัวแล้วคืนค่าผลรวมของจำนวนนั้น"
หรือแม้แต่การสร้างเพลงและดนตรี โดยการป้อนรูปแบบ ประเภท และความรู้สึกที่ต้องการ AI สามารถสังเคราะห์บทเพลงหรือดนตรีประกอบใหม่ๆ ได้
ตัวอย่าง : พิมพ์ (prompt) "สร้างบทเพลงแนวร็อกแบบคลาสสิกยุค 80s โดยมีจังหวะสนุกสนานและกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีหลัก"
การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการวิเคราะห์และประมวลข้อมูลจำนวนมาก AI สามารถช่วยออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ในงานด้านสื่อมีเดีย เช่น สำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ สามารถนำ GenAI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในหลายด้าน เช่น การสร้างข่าวสั้น คำบรรยายใต้ภาพ หรือสคริปต์รายการจากประเด็นหัวข้อที่กำหนด รวมถึงสร้างวีดีโอสั้นๆ จากโมเดลสำเร็จรูป เพื่อนำไปเผยแพร่บนสื่อออนไลน์
เราจึงสามารถประยุกต์ใช้ Generative AI ในสายงานต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและความรวดเร็วในการทำงาน เนื่องจาก AI สามารถช่วยสร้างต้นร่างหรือเนื้อหาบางส่วนได้ทันที ช่วยลดภาระงานที่ซ้ำซากจำเจ ทำให้มนุษย์สามารถเน้นไปที่งานที่ต้องใช้ทักษะระดับสูงมากขึ้น เปิดโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่ โดย AI สามารถจุดประกายความคิดเมื่อต้องหาแนวทางหรือมุมมองใหม่ๆ ช่วยทำให้เราสามารถเข้าถึงความคิดสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น แม้จะอยู่ในสาขาอาชีพที่ไม่ได้เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์โดยตรง AI จึงไม่น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด แค่เราต้องรู้จักใช้ให้เป็น
จริงอยู่ที่ว่า “เหรียญมี 2 ด้าน” หากไม่รู้จักใช้ หรือปล่อยให้ความก้าวล้ำเข้าครอบงำความคิด จิตใจ ผลเสียย่อมเกิดแน่นอน เช่น ประเด็นความไม่ปลอดภัย การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวหรือองค์กร หรือแม้แต่โอกาสที่อาจจะพัฒนาสู่ประเด็นทางการเมืองหรือสงครามสื่อ รวมถึงประเด็นที่หลายคนกังวลกันมาก และตั้งคำถามกันมาตลอด ก็คือ “AI จะมาแย่งงานหรือจะเข้ามามีบทบาทแทนที่มนุษย์หรือไม่”
ชาว TSUnews ขออนุญาตตอบคำถามในมุมมองที่ว่า... หากเราเปิดพื้นที่ให้ AI เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการทำงานของเรา ให้ความสามารถของ AI อยู่ภายใต้การกำกับของมนุษย์ ทำงานร่วมกับ AI อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเรารู้จักใช้ อย่างถูกวิธี มันจะกลายเป็นเครื่องมือดีๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพ และความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานให้กับเราได้อย่างแน่นอน ตามที่อาจารย์ ดร.พฤทธิ์ พุฒจร อาจารย์ประจําสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว สํานักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เคยแนะนำไว้ในการอบรมหลักสูตร “การประยุกต์ใช้ Gen-Al เพื่อการสร้างสื่อคอนเทนต์ดิจิทัลบนความท้าทายสมัยใหม่” ว่า ให้ปัญญาประดิษฐ์ AI (Artificial Intelligence) ทำหน้าที่ผู้ช่วยทางปัญญา IA (Intelligence Assistance) ให้กับมนุษย์
การพัฒนาของเทคโนโลยีเหล่านี้เปิดโอกาสใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ยุคสมัยแห่งข้อมูลและความเชื่อมโยงนี้ทำให้โลกเล็กลง ขณะเดียวกันก็ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ใหม่ๆ เรายังไม่รู้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวหน้าไปไกลขนาดไหนในอนาคต แต่หนึ่งสิ่งที่แน่นอนคือ มันจะทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก และเราจะหยุดนิ่งไม่ได้
……………………………………………………….
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#ปัญญาประดิษฐ์ #AI #GenerativeAI #มหาวิทยาลัยทักษิณ #Knowledgesharing #TSU #TSUNews