มหาวิทยาลัยทักษิณมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามวิสัยทัศน์และพันธกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ ผ่านโครงการมากมาย และกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมาย ในมิติด้านการพัฒนาคน (People) ประกอบด้วย SDG 1 ขจัดความยากจน SDG 2 ขจัดความหิวโหย SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 4 การศึกษาที่เท่าเทียม และSDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งภายหลังจากเสร็จสิ้นการลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้นำคณะผู้แทนจากสหประชาชาติ (UN) คุณมาริสา ปัณยาชีวะ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สหประชาชาติ และ Ms. Young-Ran Hur, Programme Management Officer for Global Opportunities for SDGs (GO4SDGs) UN Environment Programme (UNEP) ลงพื้นที่ จังหวัดพัทลุง เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของของ “ศรีนาคาโมเดล” อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการทำงานภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยได้รับเกียรติจาก นางจริยา จันทร์ดำ นายอำเภอศรีนครินทร์ นายเนติกร ชูเจริญ นายกเทศบาลตำบลบ้านนา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศรีนาคาสู่เศรษฐกิจเกื้อกูล และคณะจากพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ให้การต้อนรับ
"ศรีนาคาโมเดล" เกิดจากความร่วมมือของชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะทีมนักวิจัย สร้างโครงการ “โมเดลแก้จนสวัสดิการชุมชนเกื้อกูล : คนเมืองลุงไม่ทอดทิ้งกัน” หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยให้กลุ่มคนเป้าหมายในพื้นที่ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะและสร้างกระบวนการเรียนด้านการทำผ้ามัดย้อมและผ้าพิมพ์ลายด้วยสีจากวัสดุธรรมชาติเพื่อเพิ่มทุนทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยการทำงานแบบภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งระดับชุมชน ตำบล อำเภอและจังหวัด มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอศรีนครินทร์ เทศบาลตำบลบ้านนา มหาวิทยาลัยทักษิณ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านนา และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ และเครือข่ายการท่องเที่ยว ทั้งนี้หลายภาคีเครือข่ายร่วมผนึกกำลังอย่างมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนที่เน้นการสร้างโอกาสคน สร้างกลุ่ม สร้างพลัง สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นการลงมือพิมพ์ลายผ้าแบบทับซ้อนและการแต่งแต้มสีบนลายผ้า เพื่อให้ได้ผลงานผ้าพิมพ์ลายแบบใหม่ ๆ ณ ศรีนาคาโมเดล ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง สำหรับโครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยโดย กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณได้รับสนับสนุนงบประมาณสำหรับการขับเคลื่อนโครงการฯ เป็นปีที่ 3
สิ่งที่น่าสนใจในกลไกของกลุ่มศรีนาคาโมเดล คือการผนึกกำลังของกลุ่มสตรีผู้นำในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการเข้าร่วมบริหารจัดการกับกลุ่มองค์กร ที่นำคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางสังคมและทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งประดิษฐ์ ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น แสดงให้เห็นถึง พลังสตรีในชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายแก้จนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ The power of women in the community
..............................................................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#ศรีนาคาโมเดล #โครงการแก้จน #UN #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSUNEWS