หลังเสร็จสิ้นการประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง อาจารย์ ดร.ขวัญจิตต์ สุวรรณนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และ อาจารย์ ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสื่อสารองค์กร นำคณะผู้แทนจากสหประชาชาติ (UN) คุณมาริสา ปัณยาชีวะ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสหประชาชาติ และ Ms. Young-Ran Hur, Programme Management Officer for Global Opportunities for SDGs (GO4SDGs) UN Environment Programme (UNEP) ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง เยี่ยมชม กระจูด Lenoi Craft Phattalung อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง หนึ่งในโครงการแก้จนส่งเสริมหัตถกรรมท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสู่ชุมชน
“โมเดลกระจูดแก้จน” เกิดจากความร่วมมือของชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะทีมนักวิจัย ภายใต้ชุดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ปีที่ 3 ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นตำบลทะเลน้อย ได้พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา การเติมทักษะใหม่ในการผลิตสินค้าหัตถกรรมซึ่งผลิตจากกระจูดที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นและทรัพยากรคนอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้สามารถสร้างรายได้ได้จากหลากหลายช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
สำหรับโครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยโดย กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณได้รับสนับสนุนงบประมาณสำหรับการขับเคลื่อนโครงการฯ
................................
ข่าว/ภาพ : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#โมเดลแก้จน #เลน้อยคราฟ #พัทลุงโมเดล #บพท. #มหาวิทยาลัยทักษิณ #นวัตกรรมสังคม #ความยั่งยืน #SDGS #TSU #TSUNews