คำว่า “กริช” ในภาษาไทย ถอดมาจากคำว่า “keris” ในภาษามลายู ซึ่งหมายถึง "มีดสั้น" ส่วนภาษาอินโดนีเซีย ออกเสียงว่า “เคอ - ริด” เป็นคำกริยาที่หมายถึง "จ้วงแทงในระยะประชิดตัว" สำหรับภาษาต่างๆ ในยุโรป ใช้ว่า “kris” มีลักษณะเฉพาะตัว คือ เป็นอาวุธสองคม รูปร่างเรียวยาว ปลายแหลม มีทั้งแบบตรง และแบบหยักโค้งคล้ายลูกคลื่น มีด้ามจับสลักลวดลายเป็นอัตลักษณ์
กริช มีจุดกำเนิดจากวัฒนธรรมชวา - มลายู แล้วแพร่หลายไปทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซีย ผ่านไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และภาคใต้ของไทย ถือว่าเป็นอาวุธประกายของคนชวา-มลายู ในความเป็นศาสตราวุธ “กริช” ยังสะท้อนมิติต่างๆ ทั้งวิธีคิด ชีวิต ความเชื่อ ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของและวงศ์ตระกูล รวมไปถึงความเชื่อในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นอาวุธของเทพยดา กริชจึงเป็นทั้งศาสตราวุธ และศาสตราภรณ์ ที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะบุคคล
ตลอด 15 เดือน ในการดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่อง กริชสกุลช่างสงขลา : การสร้างคุณค่าและการจัดการทุนทางวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน มีการขับเคลื่อน เดินหน้าในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยแบบบูรณาการ สร้างการรับรู้และการยกระดับผู้ประกอบการวัฒนธรรมกริชสกุลช่างสงขลา ช่างฝีมือตีกริช และผู้สืบทอดทางวัฒนธรรม มีการจัดทำข้อมูลแผนที่ทางวัฒนธรรม (Cultural Mapping) เพื่อฐานข้อมูลในการพัฒนาและเป็นสื่อในการเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยสังคมใช้ข้อมูลวัฒนธรรมกริช มีการสร้างกลุ่มเครือข่ายห่วงโซ่วัฒนธรรมกริชเพื่อเป็นคลังความรู้ด้านวัฒนธรรมกริช เชื่อมโยงกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและสำนึกรักท้องถิ่น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกริช เช่น สินค้ากลุ่มของที่ระลึก, กลุ่มสินค้าแฟชั่น, กลุ่มหัตถกรรม ผ้าทอลายกริช, กลุ่มดนตรี เพลงกริชร่วมสมัย เป็นต้น
ระหว่างวันที่ 9 -11 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับสถานกงสุลอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา, National Chengchi University สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน), Indonesian Institute of the Arts Surakarta ประเทศอินโดนีเซีย และ Museum Kris Nusantara ประเทศอินโดนีเซีย จึงได้จัดการประชุมสัมมนานานาชาติด้านวัฒนธรรมกริช ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา เพื่อบอกเล่าการขับเคลื่อน ความคืบหน้าของโครงการวิจัยฯ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมกริชร่วมกันระหว่างไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย พร้อมลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณกับ Indonesian Institute of the Arts Surakarta และ The Municipal Government of Solo ทั้งนำเสนอผลงานวิชาการ และจัดแสดงนิทรรศการกริชอันทรงคุณค่า ซึ่งประเมินราคามิได้ จำนวนกว่า 50 เล่ม จากประเทศอินโดนีเซีย และไทย
เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมในครั้งนี้ จะมี “กริช” เป็นดั่งสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้งจะช่วยเร่งปลุกพลังและพลานุภาพของทุนวัฒนธรรม “กริชสกุลช่างสงขลา” ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นที่ทางวัฒนธรรมภาคใต้ การอนุรักษ์และพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมกริชที่มีคุณค่าในประเทศ ซึ่งถือเป็นฐานทุนที่สำคัญและแสดงถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์
เพราะ “กริชไม่ได้เป็นเพียงอาวุธ แต่คือวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมที่เชื่อมโยงกับความเชื่อ ภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ของผู้คน ชุมชน และพื้นที่” ดังคำกล่าวของ รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
.....................................................................................................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#university_of_glocalization #Kris #TSU #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSUNEWS #กริชสกุลช่างสงขลา #กริช #Kris_culture