ทำความรู้จักกับ อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) พิษร้ายที่แฝงกายในข้าวเก่า...

ทำความรู้จักกับ อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) พิษร้ายที่แฝงกายในข้าวเก่า...

17 พ.ค. 67 1823

    จากกรณีที่เป็นกระแสข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในประเด็นว่าด้วยเรื่องข้าวในโครงการจำนำข้าว อายุ 10 ปี ที่ทางนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเกษตร วิเคราะห์ผลเบื้องต้นพบว่ามีสารพิษชื่อ อะฟลาท็อกซิน และความร้อนจากการหุงข้าวหรือปรุงอาหารนั้นไม่สามารถทำลายสารพิษชนิดนี้ได้ เราจึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมา ตั้งคำถามและหาคำตอบ รวมถึงทำความรู้จักกับสารพิษนี้กัน  เพราะมันอาจจะแฝงตัวอยู่ใกล้คุณ จนไม่อาจคาดคิด

เริ่มต้นกับคำถามที่ว่า อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) คืออะไร ?

ตอบ : A มาจาก Aspergillus ชื่อสกุล (generic name) ของเชื้อรา
fla มาจาก flavus ชื่อเฉพาะ (specific name) ของเชื้อรา
toxin แปลว่า สารพิษ

ถาม : สารพิษนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ตอบ : สารพิษอะฟลาท๊อกซิน เป็นสารพิษของเชื้อรา (mycotoxin) สร้างมาจากเชื้อรา Aspergillus flavus (แอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส) และ Aspergillus parasiticus (แอสเพอร์จิลลัส พาราซิติคัส) ที่มักจะพบปนเปื้อนและเจริญในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่จัดเก็บไม่เหมาะสม กล่าวคือ การจัดเก็บในพื้นที่ซึ่งมีความชื้น และมีอุณหภูมิที่เชื้อราจะเกิดและเจริญเติบโตได้ดี โดยมักอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 20-35 องศาเซลเซียส รวมถึงเกิดขึ้นได้กับผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง ผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ มะพร้าวแห้ง หัวหอม กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น พริกไทย งา ฯลฯ

ถาม : สารพิษนี้มีโทษอย่างไร?

ตอบ : อะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรง (potent carcinogen) หากเราได้รับสารพิษชนิดนี้ มันจะออกฤทธิ์ต่อตับ ทำให้เกิดอาการตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis) จนอาจเกิดอาการตับแข็ง (cirrhosis) จนเซลล์ตับเกิดการกลายพันธุ์จนเกิดเป็นมะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma/ liver cancer) ในที่สุด

ถาม : ถ้าคนไม่กินจะเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้ไหม?

ตอบ : ต้องบอกเลยว่า “ ไม่ควร ” อธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมถึงไม่ควรเอาผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนเชื้อราตัวนี้ไปทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง หรือใช้เลี้ยงสัตว์ จากภาพประกอบกรณีนำไปเลี้ยงโคนม จะเห็นได้ว่ามีผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เกิดการปนเปื้อนของสารพิษชนิดนี้ ซึ่งสุดท้ายก็จะวกกับมาสู่ผู้บริโภคอีกที

“ เพราะฉะนั้นจะทานอะไร ต้องระมัดระวังกันให้ดี เพราะผลที่ตามมาอาจร้ายกว่าที่คิด ”  

..................................................
ข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยสิทธิ์ นิยะสม ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาการแพทย์
สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#อะฟลาท็อกซิน # Aflatoxin #โครงการจำนำข้าว #สื่อความรู้ #สุขภาพ #TSUNEWS #มหาวิทยาลัยทักษิณ