FLiRT โควิดเจ้าชู้....ติดง่ายแต่ไม่รุนแรง

FLiRT โควิดเจ้าชู้....ติดง่ายแต่ไม่รุนแรง

8 มิ.ย. 67 1914

ช่วงนี้มีหลายท่านติดโควิดกันเยอะมาก เลยอยากจะชวนมาอัพเดทว่าเกิดอะไรขึ้น? มันเป็นเพราะอะไร ? แล้วเราต้องวิตกกังวลหรือไม่? เพราะฉะนั้นเราจึงอยากจะชวนผู้อ่านทุกท่านมาหาคำตอบไปพร้อมกัน...

     ปัจจุบันมีสายพันธุ์กลาย (variants) ตัวใหม่ คือ KP.2 ที่จะมาแทน JN.1 เรียกกันเล่นๆ ว่าสายพันธุ์เจ้าชู้ ติดคนไปทั่ว ภาษาอังกฤษ คือ FLiRT

     คำว่า FLiRT (เจ้าชู้) อธิบายการกลายพันธุ์ของกรดอะมิโนตำแหน่งสำคัญในโปรตีนหนามแหลมของไวรัส (spike) 2 ตำแหน่ง คือ F456L และ R346T คล้ายๆ กับว่าสายพันธุ์นี้จะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมคือ JN.1

     ความหมายคือ ที่ตำแหน่ง 456 ของหนามแหลม มีการกลายพันธุ์จากกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (phenylalanine; F) เปลี่ยนไปเป็นกรดอะมิโนลิวซีน (leucine; L) และ ตำแหน่งที่ 346 มีการเปลี่ยนจากกรดอะมิโนอาร์จินีน (arginine; R) เป็นกรดอะมิโนทรีออนีน (threonine; T)
     การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งทั้ง 2 นั้นเชื่อว่าทำให้ไวรัสสายพันธุ์นี้หลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติของสายพันธุ์เดิมได้ดีขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการเข้าสู่เซลล์ (ติดเชื้อ) ได้ดีขึ้นอีกด้วย     
     แม้ว่าอาการป่วยจากการเป็นโควิดนั้นจะไม่รุนแรง เนื่องจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติในประชากรหมู่มากแล้ว ซึ่งมนุษย์เราและไวรัสต่างก็มีการปรับตัว แต่อย่างไรก็มีรายงานตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต

     ซึ่งพบมากในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608  (กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน) มากที่สุด มากกว่าทุกเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งการระบาดครั้งนี้ น่าจะมาจากพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่ป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงของการเปิดเทอม นอกจากนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูฝน อนุภาคไวรัสจะมีความคงตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้การฉีดวัคซีนกระตุ้นปีละครั้ง (โดยห่างจากเข็มสุดท้ายหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ 3 เดือน) ยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม 608  

     ดังนั้นการป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในกลุ่มคนจำนวนมากหรือแออัด การเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างมือบ่อยๆ คนป่วยก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลงได้อย่างแน่นอน  

..................................................
ข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยสิทธิ์ นิยะสม 
สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#เฝ้าระวัง #โควิด19 #แพร่ระบาด #หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
#สื่อความรู้ #สุขภาพ #งานสื่อสารองค์กร #TSUNEWS #มหาวิทยาลัยทักษิณ