สานงานวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาความยากจนเชื่อมสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
กว่า 3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทักษิณได้มีความมุ่งมั่นดำเนินโครงการการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดพัทลุง ที่ได้สนับสนุนโดย กองทุน ววน. และ หน่วยงาน บพท. โครงการนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยทักษิณคือ “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม” ที่เน้นการขับเคลื่อนสังคมด้วยความรู้ และการเป็น “สะพานเชื่อมต่อ” ระหว่างความเป็นสากลกับท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า “The University of Glocalization” เน้นการสร้างนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่เพื่อเป้าหมายการพัฒนา สร้างสรรค์ ผสมผสานความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของสังคม ชุมชนท้องถิ่น อันนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและการจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน
ชุดความรู้จากงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดพัทลุงซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกับชุมชนนักปฏิบัติ บนหลักการของการบูรณาการ การร่วมคิด และการร่วมลงมือทำอย่างแท้จริง ผนวกกำลังจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น/ท้องที่ ภาคประชาคม กลุ่มวิสาหกิจและภาคธุรกิจ แก่นกลางการทำงานคือการสร้างกลไกความร่วมมือ การทำข้อมูลเพื่อชี้เป้า การทำระบบส่งต่อความช่วยเหลือ และการสร้างโมเดลแก้จนด้วยฐานทุนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนธรรมชาติ ทุนการเงิน ทุนสังคม แกนการขับเคลื่อน เชื่อมโยงคน/กลุ่มคน การแก้ปัญหาที่ท้าทาย การสร้างโอกาสที่เป็นประโยชน์ และการเติมความรู้และเพิ่มทักษะการดำรงชีวิ (Reskill, Upskill, and Newskill) ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยออกแบบปฏิบัติการโมเดลแก้จนเน้นการผสมผสานองค์ประกอบที่สำคัญคือ องค์ประกอบของกระบวนการทางสังคม องค์ประกอบของข้อมูล องค์ประกอบของทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม (Appropriate Technology) และองค์ประกอบกระบวนการทางการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ และขยายผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีพร้อมใช้ในวงกว้าง
ผลจากการปฏิบัติการออกแบบโมเดลแก้จนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ทำให้เห็นภาพของการสร้างพลังร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นทั้งหน่วยงานหลักและเสริมในระบบนิเวศการทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ได้ผุดของกิจกรรมหลายหลายรูปแบบในชุมชนเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ใน 5 มิติ (17 เป้าหมาย) ได้แก่ มิติด้านการพัฒนาคน (People) มิติด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติด้านสันติภาพและความยุติธรรม (Peace) มิติด้านความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ มหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่ให้ชุมชนสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืนเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรในพื้นที่ การจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการขับเคลื่อนโมเดลกระจูดแก้จน ของกลุ่มเลน้อยคราฟ การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลธุรกิจชุมชนเกื้อกูล: ชัยบุรีโมเดล ไข่ไก่อารมณ์ดี-แฮปปี้ฟาร์ม การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และการผนึกพลังความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติในการเป็นหุ้นส่วนในการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของชุมชน
..............................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#บพท. #มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม #TSU #มหาวิทยาลัยทักษิณ #พัทลุงโมเดล #SDGs #sustainability #engagement