บรรจุภัณฑ์จากแกลบ ต้นแบบของใช้ย่อยสลายได้จากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร ลดขยะพลาสติก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลงานนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ
ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตขยะพลาสติก นวัตกรรมใหม่จากมหาวิทยาลัยทักษิณกำลังเปิดมิติใหม่ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ทีมนักวิจัยนำโดย ดร. พรศิริ โต๊ะแอ กำลังทำให้สิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นขยะกลายเป็นทรัพยากรมีค่า พวกเขากำลังเปลี่ยนแกลบ ฟางข้าว ใยมะพร้าว ชานอ้อย และแม้แต่กากกาแฟ ให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม "เราเห็นโอกาสในการแก้ปัญหาสองเรื่องพร้อมกัน" ดร. พรศิริกล่าว "ทั้งการจัดการของเสียทางการเกษตรสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง ทีมข่าว TSU NEWS ได้สัมภาษณ์นักวิจัยถึงประเด็นดังกล่าาว
ดร. พรศิริ โต๊ะแอ รองผู้จัดการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้ข้อมูลว่า การผลิตบรรจุภัณฑ์จากแกลบ ต้นแบบของใช้ย่อยสลายได้จากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคลดการเกิดขยะพลาสติก เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกปีละกว่า 2 ล้านตัน แต่ถูกนำกลับมารีไซเคิลเพื่อหมุนเวียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เพียง 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือใช้การฝังกลบและบางส่วนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม จนสร้างปัญหาตามมามากมายทั้งต่อคน สัตว์ และระบบนิเวศ และจากงานวิจัยต่าง ๆ พบว่าพลาสติกจากสารตั้งต้นปิโตรเลียมต้องใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 400 ปี จึงจะทำให้ย่อยสลายได้หมด สำหรับการจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยรัฐบาลได้มีมติรับร่าง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ ทำให้ปัจจุบันธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการหาวัสดุทดแทนการใช้งานพลาสติกจากปิโตรเลียม เช่น พอลิเมอร์ที่ผลิตจากอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น แต่พลาสติกชีวภาพมีลักษณะที่แข็งและค่อนข้างเปราะ และยังคงมีราคาแพง
นักวิจัยศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้มีการใช้เทคโนโลยียางดัดแปลงโครงสร้างเข้ามาปรับปรุงข้อด้อยของพลาสติกชีวภาพดังกล่าว นอกจากนี้ได้มีการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว (Agricultural waste) เช่น ฟางข้าว แกลบ ใยมะพร้าว ชานอ้อย กากกาแฟ เป็นต้น เข้ามาผสมเพื่อเป็นการลดปริมาณการใช้พอลิเมอร์ชีวภาพที่มีราคาแพงลงได้ โดยทั่วไปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากนัก มีการปล่อยทิ้งไว้ในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ บางส่วนนำมาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ขณะที่บางส่วนมีการจัดการของเสียทางการเกษตรโดยการเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชานชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาแปรรูปให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อนำมาใช้แทนพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม นับเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัดให้น้อยลง สามารถเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
ดร. พรศิริ โต๊ะแอ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์นี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการจัดการขยะพลาสติกของไทย ซึ่งมาตรการนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ค่อย ๆ หายไปจากตลาด ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์จากพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้น” ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตอยู่เป็นแบบทรงถ้วย และด้วยกระบวนการและสูตรที่ได้พัฒนาขึ้นสามารถขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับรูปแบบของแม่พิมพ์ สามารถนำไปใช้บรรจุอาหารที่เป็นของแห้งและของเหลวได้ ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นการผลิตในระดับ Lab scale ซึ่งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชนได้มีการของบประมาณสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรแปรรูปเทอร์โมพลาสติก เพื่อขยายศักยภาพในการพัฒนางานวิจัย และผลิต ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางภาคการเกษตร
ในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นบรรจุภัณฑ์จากแกลบและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ วางจำหน่ายในท้องตลาด เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจโลกจากห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยทักษิณสู่ชีวิตประจำวันของเรา นวัตกรรมนี้กำลังเปิดหน้าใหม่ในการจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์และการวิจัย เราสามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาสควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
....................................
แหล่งข้อมูล : ดร. พรศิริ โต๊ะแอ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#SDGs #ลดขยะพลาสติก #ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน #คณะวิศวกรรมศาสตร์ #วัสดุทดแทน #TSUNEWS #มหาวิทยาลัยทักษิณ