ปลาหมอคางดำ: นักล่าผู้มีสีดำ วิกฤติร้ายทางระบบนิเวศ เศรษฐกิจและสังคมไทย

ปลาหมอคางดำ: นักล่าผู้มีสีดำ วิกฤติร้ายทางระบบนิเวศ เศรษฐกิจและสังคมไทย

21 ก.ค. 67 938

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการรุกรานของสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจของประเทศ หนึ่งในผู้รุกรานที่น่ากังวลที่สุดคือ “ปลาหมอคางดำ” หรือที่บางคนเรียกว่า “ปลาหมอสีคางดำ”

ชวนรู้จักปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำ หรือบางคนเรียกว่า ปลาหมอสีคางดำ สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron และชื่อสามัญว่า Blackchin tilapia มีถิ่นกำหนดมาจากแถบทวีปแอฟริกา พบตั้งแต่ประเทศมอริเตอเนียไปจนถึงประเทศคาเมอรูน มีรายงานการนำเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาหลายประเทศในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป  

ภาพ : Geographic Range of Sarotherodon melanotheron 
Source : https://www.iucnredlist.org/species/182038/58328597

ความหมายของชื่อวิทยาศาสตร์ของเจ้าปลาตัวนี้สามารถบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นปลาซึ่งมีฟันลักษณะคล้ายขี้เลื่อย หรือฟันซี่เล็กกระจายในช่องปาก ส่วน melanotheron มีความหมายว่าเป็น “Black Hunter” หรือเป็น “นักล่าผู้มีสีดำ” ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม อาศัยได้ทั้งในน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย พบทั่วไปบริเวณปากแม่น้ำ ป่าชายเลน สามารถอาศัยในพื้นที่น้ำจืดได้ทั้งในทะเลสาบ แม่น้ำและลำน้ำสาขา ทนต่อความเค็มในช่วงกว้างตั้งแต่ 0-> 30 ส่วนในพันส่วน (ppt) นอกจากนี้ยังกินได้ทั้งพืชและสัตว์ ทำให้มันสามารถแพร่พันธุ์และเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย

ทำไมปลาชนิดนี้จึงเป็นปัญหาต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรสัตว์น้ำท้องถิ่น และวิถีประมง
มีรายงานว่าปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553 จากนั้นได้มีการหลุดรอดออกสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติในพื้นที่ภาคกลาง หลังจากนั้นได้พบว่าปลาชนิดนี้มีการกระจายในพื้นที่แหล่งน้ำ สืบพันธุ์ วางไข่ และเพิ่มจำนวนมากขี้น ปัญหาใหญ่ปลาชนิดนี้ไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นและอาศัยในฉพาะในเขตชายฝั่งทะเลภาคกลางเท่านั้น แต่มีการเคลื่อนพลลงมาสู่พื้นที่อื่น ๆ ครอบคลุมหลายจังหวัดจนเกิดจากการรุกรานส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญคือ
     1) ปลาชนิดนี้แย่งถิ่นอาศัยของปลาท้องถิ่น ด้วยนิสัยก้าวร้าวและการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ปลาหมอคางดำได้แย่งที่อยู่อาศัยและอาหารของปลาท้องถิ่น ส่งผลให้ประชากรปลาและสัตว์น้ำพื้นเมืองลดลงอย่างน่าวิตก
     2) ส่งผลกระทบในแง่เศรษฐกิจและสังคม ปลาชนิดนี้ได้รุกรานเข้าสู่พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญของไทย ปลาหมอคางดำกินทั้งกุ้งวัยอ่อนและกุ้งโตเต็มวัย ทำให้ผลผลิตกุ้งลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ ตัวปลาเองก็ไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เนื่องจากโตช้า เนื้อเหนียว และมีก้างมาก  

แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้ควรทำอย่างไร
     1) สร้างความตระหนักรู้ในสังคม : ควรมีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของปลาหมอคางดำ และความสำคัญของการควบคุมประชากร
     2) ส่งเสริมการจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ : อาจใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ เช่น การแข่งขันจับปลา หรือการรับซื้อปลาในราคาพิเศษเพื่อทำให้ลดปริมาณปลาชนิดนี้ลงให้เร็วที่สุด
     3) พัฒนาการใช้ประโยชน์ : สร้างมูลค่าเพิ่มโดยพัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารแปรรูประดับอุตสาหกรรมทั้งอาหารสำหรับการบริโภค และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
     4) ใช้วิธีควบคุมทางชีวภาพ: ปล่อยปลากะพงขาว และปลานักล่าท้องถิ่นชนิดอื่น ๆ เพื่อควบคุมประชากรปลาหมอคางดำตามธรรมชาติ
     5) การจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังติดตามระดับพื้นที่ : การมีศูนย์กลางข้อมูลการระบาดทำให้ชุมชนสามารถให้ความร่วมมือในการจับปลาชนิดนี้ได้มากขึ้น และการจัดตั้งศูนย์กลางประสานงานให้ชาวประมงที่จับปลาหมอคางดำมีช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่ายปลาที่จับได้ไปยังผู้ใช้ประโยชน์ เช่น ผู้แปรรูปสัตว์น้ำทั้งในระดับอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และผู้แปรรูปเพื่อการบริโภคภายในประเทศ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนเร่งจับปลาหมอคางดำออกจากพื้นที่การระบาดได้มากยิ่งขึ้น

สถานการณ์การรุกรานของปลาหมอคางดำเป็นประเด็นที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อลดจำนวนและผลกระทบของปลาชนิดนี้ต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจประมงของไทย หากเราไม่เร่งดำเนินการอย่างจริงจัง อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรประมง และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้ รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว ก่อนที่เราจะสูญเสียระบบนิเวศท้องถิ่นไปอย่างถาวร

...................................

ผู้ให้ข้อมูลหลัก :  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์การประมงและทรัพยากรทางน้ำ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ  
 
เอกสารอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2563). ปลาหมอสีคางดำ. สืบค้น 21 กรกฎาคม 2567 จาก https://www4.fisheries.go.th/local/pic_activities/201802221729471_pic.pdf
Froese, R., & Pauly, D. (2019). FishBase. Retrieved 21 July 2024 from https://www.fishbase.se/summary/1412
IUCN. (2019). Sarotherodon melanotheron. Retrieved 21 July 2024 from https://www.iucnredlist.org/species/182038/58328597