3 หนุ่มนิสิต หลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย จากคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา (วสก.) มหาวิทยาลัยทักษิณ คว้าแชมป์ในการแข่งขันกีฬาเพาะกาย “ตรังเคเกมส์” การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 49 คัดเลือกภาค 4 ณ จังหวัดตรัง วันที่ 24 สิงหาคม 2567
ขอแสดงความยินดีกับ 3 หนุ่มนิสิตนักเพาะกาย นายจิรายุทธ คุ้มสังข์ นิสิตชั้นปีที่ 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันสปอร์ตฟิสิคชาย ความสูงเกิน 175 เซนติเมตร, นายวงศกร สุวรรณเพชร นิสิตชั้นปีที่ 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันเพาะกายทั่วไปชาย รุ่นฟลายเวท น้ำหนักไม่เกิน 60 กิโลกรัม และพี่ใหญ่นายปรมี ชูมี นิสิตชั้นปีที่ 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เพาะกายทั่วไปชาย รุ่นเวลเตอร์เวท น้ำหนักไม่เกิน 75 กิโลกรัม ซึ่งจะเข้าแข่งขันต่อไปในระดับประเทศที่จังหวัดจันทบุรี ช่วงปลายปี 2567 นี้
นอกจากจะร่วมยินดีและขอปรบมือให้แก่นิสิตทั้งสามในความมุมานะ พยายาม จนสำเร็จ ต้องขอชื่นชมอาจารย์ผู้ฝึกสอนทั้งสามท่านเช่นกัน สำหรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวินภัสส พิมพ์จันทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ, นายติณณ สุวรรณคีรี นักวิทยาศาสตร์ และนางสาวชลธิญา เกิดแก้ว นักวิชาการศึกษา ผู้อยู่เบื้องความสำเร็จในครั้งนี้
กีฬาเพาะกาย (Bodybuilding) เป็นกีฬาเฉพาะทางที่มุ่งเน้นการพัฒนากล้ามเนื้อและรูปร่างของร่างกายให้มีความสมดุลและสวยงาม ผ่านการฝึกซ้อมอย่างเข้มงวดและการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด การฝึกซ้อมประกอบด้วยการยกน้ำหนักในท่าต่างๆ เช่น การดัน, การดึง และการยกน้ำหนักที่มุ่งเน้นการสร้างกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างกล้ามเนื้อ
นักกีฬาเพาะกายจึงต้องมีความทุ่มเทและความมุ่งมั่นสูง เพราะการสร้างกล้ามเนื้อที่ดีต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก รวมถึงการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงและการควบคุมอาหารที่เคร่งครัด ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่นักกีฬาเพาะกายต้องปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ สมกับแนวคิดที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวินภัสส พิมพ์จันทร์ อาจารย์ผู้ฝึกสอนคนสำคัญ ได้ฝากไว้ให้แก่นิสิตว่า “เรียนรู้? ฝึกฝน? อดทน? พยายาม? ความสำเร็จรออยู่” และเชื่อว่าความสำเร็จในการแข่งขันระดับประเทศที่จังหวัดจันทบุรี จะรอให้นิสิตจากคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ ไปคว้าฉวยมาให้ได้
เสน่ห์ของกีฬาเพาะกายอยู่ที่การสร้างรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น นักกีฬาเพาะกายสามารถสร้างกล้ามเนื้อที่มีรายละเอียดและรูปร่างที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กีฬาชนิดนี้มีความน่าสนใจและไม่ได้เป็นเพียงกีฬา แต่ยังถือเป็นศิลปะการสร้างร่างกายที่สวยงามอีกด้วย
.................................................................................................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#การแข่งขันกีฬาเพาะกาย #ตรังเคเกมส์ #การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ2567 #การแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่49 #FHSS #TSU #SS_TSU #SS_FHSS_TSU #ThaksinUniversity #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSUNEWS #วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย #วิทยาศาสตร์การกีฬา #คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา #วสก_มหาวิทยาลัยทักษิณ