ดังสุดฉุดไม่อยู่ หมูเด้ง ฮิปโปเซเลปแห่งสวนสัตว์เขาเขียว

ดังสุดฉุดไม่อยู่ หมูเด้ง ฮิปโปเซเลปแห่งสวนสัตว์เขาเขียว

24 ก.ย. 67 694

เรื่องราวดี ๆ ที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “หมูเด้ง” เจ้าฮิปโปแคระที่สร้างความสุขให้กับคนไทยและกำลังเป็นไวรัลทั่วโลก ถึงขนาดที่ชาวต่างชาติบินข้ามฟ้ามาสัมผัสความน่ารักถึงสวนสัตว์เขาเขียวและยังออกทีวีในหลายประเทศ

หมูเด้ง!! เป็นฮิปโปแคระ หรือ pygmy hippopotamus มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Choeropsis liberiensis ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ชนิดของฮิปโปโปเตมัสที่เหลืออยู่ในโลกยุคปัจจุบัน (อีกชนิดคือ ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamus amphibius) ซึ่งแยกสายวิวัฒนาการออกจากฮิปโปแคระเมื่อประมาณ 4.04 ล้านปีที่แล้ว) (ภาพที่ 1) (Kardos et al., 2023) นอกจากนี้ ความจริงอันน่าตื่นเต้นที่มาจากข้อมูลงานวิจัย คือ ฮิปโปแคระและวาฬมีบรรพบุรุษร่วมกันและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในสายวิวัฒนาการมากกว่าที่นักวิจัยคิด โดยแยกสายวิวัฒนาการจากวาฬเมื่อประมาณ 51.98 ล้านปี (ภาพที่ 1) (Kardos et al., 2023)

   

ภาพที่ 1 อ้างอิงจาก Kardos et al., 2023                   

 

ภาพที่ 2 อ้างอิงจาก เพจสวนสัตว์เปิดเขาเขียว Khao Kheow Open Zoo

ฮิปโปแคระเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความยาวประมาณ 157 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 160-270 กิโลกรัม ลำตัวด้านบนสีเขียว-ดำ ด้านข้างสีเทา ผิวหนังชั้นนอกบางและผิวหนังมีต่อมซึ่งหลั่งของเหลวสีชมพู-แดงคล้ายเหงื่อออกมาเพื่อปกป้องผิวจากดวงอาทิตย์และการติดเชื้อเรียกว่า เหงื่อเลือด (blood sweat) หรือเหงื่อสีแดง (Galasso and Pichierri, 2009) ระหว่างนิวเท้ามีพังผืด (web) เป็นแผ่นเล็ก ซึ่งเหมาะแก่การอาศัยบนพื้นดินมากกว่าในน้ำ

ภาพที่ 3 อ้างอิงจาก เพจสวนสัตว์เปิดเขาเขียว Khao Kheow Open Zoo

 

ในธรรมชาติ ฮิปโปแคระเป็นสัตว์ที่ขี้อายและมีกิจกรรมต่าง ๆ ในตอนกลางคืน เช่น การกินอาหาร โดยกินพวกพืชน้ำ หญ้า รากไม้ พืชต่างๆ และผลไม้ ซึ่งใช้เวลาไปกับการกินเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว ฮิปโปแคระพร้อมสืบพันธุ์เมื่ออายุ 3-5 ปีและตัวเมียตั้งท้องนาน 6-7 เดือน

ฮิปโปแคระเป็นสัตว์ที่อาศัยในป่าและพื้นที่บึงของแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและโกตดิวัวร์ (Flacke and Decher, 2019) ปัจจุบัน พี่-น้องของเจ้าหมูเด้งหรือฮิปโปแคระในธรรมชาติมีจำนวนน้อยมาก ข้อมูลจาก IUCN Red List, ระบุว่าเหลือประชากรประมาณ 2,000-2,499 ตัวในป่าธรรมชาติและที่น่ากังวล คือ มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการบุรุกป่า การทำลายที่อยู่อาศัย การล่าเพื่อกินเนื้อ ดังนั้น "หมูเด้ง" ไม่เพียงแค่เป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนเท่านั้น แต่ยังทำให้คนทั่วไปและทั่วโลกได้รู้จักสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอีกหนึ่งชนิดที่มีอยู่บนโลกนี้และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย

 

......................................................

เรียบเรียงโดย : อ.ดร.อัคนี ผิวหอม
อาจารย์หลักสูตรชีววิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ

#หมูเด้ง #viral #สวนสัตว์เขาเขียว #ฮิปโป #มหาวิทยาลัยทักษิณ #tsunews #knowledgesharing