เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้... ภัยใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่ไม่มีใครอยากให้เกิด หากเกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้ หลายประเด็นจำเป็นต้องวางนโยบายอย่างเร่งด่วนในการป้องกันและโอกาสความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบการจัดการเหตุฉุกเฉิน ความปลอดภัยของตัวรถ นอกจากนี้ทุกคนจำเป็นต้องเพิ่มทักษะการเรียนรู้และรู้วิธีการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้รถไม่ว่าจะเป็นรถส่วนบุคคล รถประจำทาง และรถโดยสารสาธารณะเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
สำหรับผู้ขับขี่
- ตั้งสติ ประคองรถเข้าไหล่ทางเพื่อจอดและเปิดไฟฉุกเฉินทันที
- ปลดล็อกประตูและหน้าต่างและปลดเข็มขัดนิรภัย
- กรณีที่มีควันออกมาให้ดับเครื่องยนต์ทันทีลดโอกาสเกิดไฟไหม้ และเปิดหน้าต่างระบายควัน
- หากรถติดตั้งระบบก๊าซ ให้ปิดสวิตช์เพื่อตัดการทำงานของระบบก๊าซ พร้อมดับเครื่องยนต์ทันที
- ใช้ถังดับเพลิงฉีดพ่นต้นเพลิง หากมีเปลวไฟออกมาจากฝากระโปรงรถให้ปลดสลักฝากระโปรง และใช้ถังดับเพลิงฉีดพ่นผ่านทางช่องฝากระโปรงที่แง้มไว้ ห้ามเปิดฝากระโปรงในทันที เพราะจะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น เมื่อไฟเริ่มสงบ จึงค่อยๆ เปิดฝากระโปรง
- ใช้ผ้ารองหรือสวมถุงมือ เนื่องจากฝากระโปรงมีความร้อนสูง หากเปิดได้แล้วควรฉีดพ่นให้ทั่วห้องเครื่องจนมั่นใจว่าไฟดับสนิท
- เมื่อไม่มีประกายไฟหรือไฟดับสนิทแล้วควรถอดขั้วแบตเตอรี่ออก ป้องกันไม่ให้เปลวไฟปะทุ
สำหรับผู้โดยสาร
- ตั้งสติ กรณีที่ไฟลุกไหม้ ให้ทิ้งสัมภาระและออกจากรถทันทีให้เร็วที่สุด อยู่ห่างจากรถอย่างน้อย 30 เมตร
- หาทางออกฉุกเฉินทันที ทุกครั้งที่ขึ้นรถ ให้สังเกตตำแหน่งของประตูทางออกฉุกเฉิน หน้าต่างฉุกเฉิน หรือจุดที่สามารถหนีออกจากรถได้
- ใช้ค้อนทุบกระจกประตูหรือหน้าต่าง ซึ่งรถประจำทางมักจะมีค้อนทุบกระจกติดไว้ใกล้หน้าต่างฉุกเฉิน หากไม่มีให้ใช้ของแข็งใดๆ ที่มีในรถทุบกระจกทันที เช่น ถังดับเพลิง แกนเหล็กที่รองศีรษะ หรือเตะ/ถีบประตูหน้าต่างออก
- ก้มตัวต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงควัน หากมีควันไฟหนา ควันจะลอยขึ้นข้างบน
- ใช้น้ำชุบผ้าปิดจมูกเพื่อเพิ่มออกซิเจนในการหายใจและกรองควันป้องกันการสำลักควันหรือสูดดมสารพิษ
- หลีกเลี่ยงการเปิดประตูที่มีไฟลุกไหม้ หากประตูหรือพื้นที่ส่วนใดของรถมีไฟลุกไหม้หรือมีความร้อนสูง อย่าพยายามเปิดหรือเข้าใกล้ เพราะไฟจะลามเข้ามาอย่างรวดเร็วและอาจทำให้ถูกไฟลวกได้
- หากเสื้อผ้าติดไฟให้หยุดวิ่ง กลิ้งลงกับพื้นเพื่อดับไฟ อย่าพยายามใช้มือดับไฟเพื่อไม่ให้ลุกลามและไม่ใช้ถังดับเพลิงฉีดไปที่ตัวคนเพราะอาจทำให้ขาดอากาศหายใจจากน้ำยาเคมีดับเพลิงได้
- หากไม่สามารถหาทางออกได้ ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ภายนอก หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ รีบโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินที่เบอร์แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191 ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199 สายด่วนนิรภัย 1784 หรือ 1669
- รอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หรือทีมกู้ภัยที่มีความชำนาญเข้ามาควบคุมสถานการณ์
- ตรวจสอบสภาพร่างกายว่าตนเองและคนอื่นที่หนีรอดออกมาได้รับบาดเจ็บหรือไม่ หากมีคนบาดเจ็บหนัก เช่น หายใจลำบากหรือเกิดอาการสำลักควันไฟ ถูกไฟลวกหรือหมดสติ ให้รีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที
อ้างอิง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. (2561). ลด หยุด ภัย: เลือกใช้บริการ-เช่าเหมารถโดยสารสาธารณะถูกประเภทเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง. เข้าถึงจาก 1 ตุลาคม 2567 จาก https://dpmreporter.disaster.go.th/dpm/assets/uploads/pdf/1Ck3vZq6DG1549301520.pdf
สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก. (2567). เคล็ด (ไม่) ลับ…นั่งรถโดยสาร เดินทางใกล้ – ไกลอุ่นใจ ปลอดภัย หายห่วง. เข้าถึงจาก 1 ตุลาคม 2567 จาก https://safedrivedlt.com/
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2567). วิธีแก้ไขเหตุฉุกเฉินไฟไหม้รถยนต์. เข้าถึงจาก 1 ตุลาคม 2567 จาก https://www.thaihealth.or.th/
...................................
บทความโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิติมา ณ สงขลา
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ
#ทักษะการเอาตัวรอด #ไฟไหม้รถบัส #tsunews #มหาวิทยาลัยทักษิณ #คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา