ม.ทักษิณ เตรียมพร้อมสู่ Social Innovation Ranking เพื่อการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย

ม.ทักษิณ เตรียมพร้อมสู่ Social Innovation Ranking เพื่อการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย

8 ต.ค. 67 322

การจัดอันดับทางด้าน Social Innovation เป็นการประเมินผลการทำงานในด้านการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับการสนับสนุน แต่ยังช่วยยกระดับสถานะขององค์กรหรือสถาบันในระดับนานาชาติ  ประกอบกับในปัจจุบัน การแข่งขันทำผลงานด้านวิชาการ ด้านวิจัย ในสถาบันการศึกษา เข้มข้น และเป็นทางเลือกสำคัญต่อการจัดหาแหล่งทุนสนุบสนุน ดังนั้นการจัดอันดับมหาวิทยาลัย (University Ranking) ในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากช่วยให้สถาบันการศึกษาได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับสากล อีกทั้งยังเป็นเกณฑ์สำคัญที่นักเรียนและนักศึกษาทั่วโลกใช้ในการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่  Social Innovation Ranking จึงจัด “โครงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ Social Innovation Ranking เพื่อการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” และได้เชิญผู้บริหาร อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากร มหาวิทยาลัยทักษิณ  เข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมมหาหงส์ ชั้น 5 อาคารปฏิบัติการทางวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขต  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและสื่อสารให้บุคลากร นักวิจัย ได้ทราบถึงความหมายของ Social Innovation และการจัดทำ Social Innovation Ranking เพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย

 

โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งกล่าวว่า Innovation หรือ นวัตกรรม ในความหมายที่แสดงถึงตัวตนและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยทักษิณที่บ่งชี้ถึงเป้าหมายและตัวชี้วัด ที่สามารถระบุตัวชี้วัดได้อย่างถูกต้องและสามารถวัดได้จริง ซึ่งตัวชี้วัดที่นำมาวัดจะต้องกำหนดองค์ประกอบ ความสำคัญและครอบคลุมในมิติต่าง ๆ ที่สำคัญต้องชัดเจนและสามารถบรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย โดยหมายรวมถึงเครื่องมือในการชี้วัดการเป็นนวัตกรรมสังคม ซึ่งการจัดอันดับ Social Innovation Ranking ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยทักษิณควรนำเอาข้อมูลในการจัดอันดับที่ได้มาเป็นสะพานเชื่อมไปสู่พันธมิตร และพันธกิจในด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เวทีระดับโลกต่อไป

สำหรับการอบรมในครั้งนี้ โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวสุภัค วิรุฬหการุญ  ผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมสู่ Social Innovation Ranking ในการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาสังคม และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการยกตัวอย่างประเทศที่มีการจัดอันดับ Social Innovation Ranking  และการกำหนดตัวชี้วัด ตลอดจนการให้ความสำคัญของการจัดอันดับ ซึ่งจะตอบโจทย์ในเรื่องของการยอมรับในระดับนานาชาติ เนื่องจากการจัดอันดับ Social Innovation แสดงให้เห็นถึงการที่องค์กรหรือประเทศนั้น ๆ มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม ซึ่งจะช่วยให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และสามารถดึงดูดความสนใจจากหน่วยงานระดับโลกหรือองค์กรต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถดึงดูดการลงทุนและทุนสนับสนุนโดยเฉพาะโครงการที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ซึ่งช่วยพัฒนาองค์กรและที่มีความสามารถและต้องการทำงานในองค์กรที่มีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม อันจะช่วยสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่ดีในสายตาของสาธารณชน ทำให้มีความน่าเชื่อถือในการดำเนินงาน

 ดังนั้นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่เพียงแต่เน้นการประเมินในเชิงวิชาการ แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบที่มหาวิทยาลัยมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทำให้มหาวิทยาลัยต้องมีการพัฒนาและปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้เท่าทันต่อการแข่งขันในเวทีระดับสากล เพราะฉะนั้นการจัดอันดับทางด้าน Social Innovation ซึ่งเป็นการประเมินผลการทำงานในด้านการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถานประกอบการ แต่ยังช่วยยกระดับสถานะขององค์กรหรือสถาบันในเวทีระดับสากลได้อย่างสมบูรณ์

......................................

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#Social #Innovation #Ranking   #อัตลักษณ์  #University_Ranking #สถาบันวิจัยและนวัตกรรม  #TSUNEWS  #WeTSU  #มหาวิทยาลัยทักษิณ