ม.ทักษิณ จัดการประชุมเสวนาวิชาการ "สิทธิมนุษยชนเพื่อทุกคน : ตระหนักรู้และพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน" พร้อมประกาศนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
ตามปกติแล้ววันที่ 10 ธันวาคมสำหรับประเทศไทย รัฐบาลกำหนดให้เป็น “วันรัฐธรรมนูญ” ซึ่งวันนี้ยังเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในระดับนานาชาติ นั่นคือ “วันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day)” ซึ่งถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน นับถือศาสนาอะไร มีสีผิวอะไร เพศอะไร ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคไม่ต่างกัน
มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยฝ่ายกิจการนิสิต ได้มุ่งมั่นที่จะสร้างการตระหนักรู้ถึงสิทธิความเท่าเทียม ความเสมอภาค และการพัฒนาศักยภาพนิสิต จึงได้จัดโครงการเวทีวิชาการ “สิทธิมนุษยชนเพื่อทุกคน : ตระหนักรู้และพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน” เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 12.00 น. ณ หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมแนะนำองค์ปาฐก นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2567 ซึ่งได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม และโอกาสกับการเข้าถึงสิทธิในมุมมองของแพทย์ชนบท” ซึ่งใจความของการปาฐกถาครั้งนี้สรุปความได้ว่า “สิทธิมนุษยชนกับความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ใกล้กันมาก ๆ ควรสนับสนุนให้นิสิตออกไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน ไปสัมผัสกับการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม ไปร่วมทำกิจกรรมภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นมิติองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ที่เป็นการเรียนรู้นอกตำรา จะช่วยเติมเต็มช่องว่าง (Fill the Gap) ทำให้พวกเขาเข้าใจบทบาท หน้าที่ และความเป็นพลเมือง เพราะการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจะค่อย ๆ ซึมซับจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ให้พวกเขาทำสิ่งที่ถูกต้องต่อสังคม”
หลังจากนั้นได้มีการเสวนาประเด็น "สิทธิ(มนุษชน) กับการเข้าถึงสิทธิในมุมมองของคนทำงานด้านสิทธิ "
นำเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย นาคสีทอง
ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย
1) อาจารย์บงกช ดารารัตน์ ผู้แทนศูนย์นิติชาติพันธุ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
2) คุณสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ระดับชาติ (กป.อพช.)
3) คุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม
4) นายอับดุลปาตะ ยูโซะ นายกสมาคมเยาวชนพัฒนาบ้านเกิด (PPS)
และการตอบข้อซักถามในประเด็นข้อสงสัยจากเวทีเสวนา หลังจากนั้นเป็นการแสดง “มะนิ” จากนิสิตสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
หลังจากนั้นได้มีการแถลงนโยบายและแนวปฏิบัติสิทธิมนุษยชน (Human Rights Policy and Practice) มหาวิทยาลัยทักษิณ และการนำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน สู่การปฏิบัติ ของมหาวิทยาลัยทักษิณ
โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ดังนี้
คำแถลงนโยบายและแนวปฏิบัติสิทธิมนุษยชน (Human Rights Policy and Practice) มหาวิทยาลัยทักษิณ
ด้วยมหาวิทยาลัยทักษิณ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นและให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติอย่างยิ่ง ตระหนักในคุณค่า สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคความเท่าเทียมของตัวบุคคลสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพทางการศึกษา สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นร่วมกับสถานศึกษา ทั้งด้านความคิดและการกระทำ ที่ไม่เป็นเหตุอันเป็นการละเมิด ตลอดจนไม่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและดำเนินงานให้อยู่บนหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล สู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน โดยนิสิตและบุคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณ จะต้องยึดถือเป็นที่สำคัญยิ่ง ดังนี้
1. ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพต้องไม่เป็นเหตุของการละเมิดการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม สีผิว ลักษณะรูปร่างทางกาย การถูกละเมิดต่อความเป็นมนุษย์ย่อมได้รับการคุ้มครองและได้รับความยุติธรรมจากทางภาครัฐ
2. ต้องยึดมั่นในหลักกฎหมายบนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ ต้องไม่กระทำการละเมิด กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพต่อตนเองและผู้อื่น
3. ร่วมธำรงรักษาวัฒนธรรม วัฒนธรรมองค์กรและการขับเคลื่อนองค์กร บนหลักสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นเปิดโอกาสให้ทางนิสิตและบุคคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณ สะท้อนปัญหา แก้ไขและนำไปสู่การพัฒนาองค์กร ดำเนินงานให้อยู่บนหลักนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล
4. สื่อสาร เผยแพร่นโยบาย ให้ความรู้ความเข้าใจ กำหนดแนวทาง และสนับสนุนให้นิสิตและบุคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมพูดคุยถึงการเคารพต่อบุคคลอื่น เพื่อไม่ก่อให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และการเคารพต่อบุคคลอื่น
5. จัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียนที่มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ช่องทางการให้คำปรึกษา แก่ผู้ถูกละเมิด โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสรายงานผู้ที่กระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อบุคคลอื่น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและเป็นมาตรการตามที่มหาวิทยาลัยทักษิณประกาศไว้
6. มหาวิทยาลัยทักษิณจะทบทวนนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพเป็นสำคัญ
7. จักส่งเสริม สนับสนุน และรณรงค์การสร้างเสริมสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและการเสริมพลังอำนาจประชาชน และสังคม ร่วมกับองค์กรทางสังคม และภาคีพันธมิตรอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง
มหาวิทยาลัยจักยืนยัน ถึงความมุ่งมั่นต่อนโยบายสิทธิมนุษยชน และจะร่วมมือกับภาคี พันธมิตรในการปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายนโยบายสิทธิมนุษยชนเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยทักษิณ ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2567
..........................................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#สิทธิมนุษยชนสากล #วันรัฐธรรมนูญ #10_ธันวาคม #Human_Right #แพทย์ชนบท #ลดความเหลื่อมล้ำ #คนชายขอบ #กลุ่มมานิ #กลุ่มชาติพันธุ์ #TSUNEWS #WeTSU #มหาวิทยาลัยทักษิณ