เราทุกคน.....ต่างต้องการใครสักคนที่เข้าใจ
เข้าใจ.....ในสิ่งที่เราคิด เราพูด เราทำ เรารู้สึก
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า..... Empathy เป็นสิ่งที่ควรมี “ในตัว” ของทุกคน
Empathy : A Quality Everyone Should Possess
เราทุกคนต่างต้องการใครสักคนที่ “เข้าใจ” มากกว่าความสงสาร ความหวังดี หรือแค่เห็นอกเห็นใจ แต่อยากให้เข้าใจในสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรารู้สึก Empathy จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ควรบ่มเพาะ ปลูกฝังไว้ในตัวเราทุกคน เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทุกด้านของชีวิต ยังจะช่วยสร้างสังคมที่มีความรัก ความเอื้ออาทร รู้จักร้อนหนาวต่อกัน มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความกลัว ความท้อแท้ ความเจ็บปวด จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมุมที่เขาเป็น ในจุดที่เขายืน หรือเหตุการณ์ที่เขาประสบ หรือสภาวะที่เป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้เราสามารถให้ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด ในด้านการทำงานจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้การสื่อสารและการอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความขัดแย้ง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นบวก
ทั้งนี้ งานวิจัยในประเทศไทยที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น กับบุคลิกภาพด้านอื่นๆ และพฤติกรรมทางบวกและทางลบ พบว่า บุคคลที่มีลักษณะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นสูง มีแนวโน้มให้อภัยสูงกว่า มีลักษณะแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นน้อยกว่า มีพฤติกรรมช่วยเหลือมากกว่า ก้าวร้าวน้อยกว่า และแสดงการเหยียดเพศแบบปฏิปักษ์น้อยกว่าอีกด้วย
Empathy คืออะไร?
Empathy คือ ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ สุข เศร้า ความกลัว หรือความเจ็บปวด แม้ว่าเราจะไม่ได้ประสบกับสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเองก็ตาม เพราะ Empathy เป็นการมองโลกผ่านมุมมองของผู้อื่น และสามารถรับรู้ได้ถึงสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ การแสดงออกของ Empathy ไม่ได้หมายถึงการรู้สึกเข้าใจในระดับลึกซึ้งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีท่าทีที่พร้อมจะช่วยเหลือและสนับสนุนผู้อื่นในยามที่เขาต้องการ
Empathy สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน คือ
Empathy VS Sympathy
Empathy หมายถึง ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ในสายตาและมุมมองของเขา
Sympathy หมายถึง ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ความสงสาร ความเศร้าเสียใจต่อผู้อื่น ในมุมมองของเราเอง
อธิบายให้ง่ายขึ้น “Sympathy” คือการมองและตัดสินสิ่งต่างๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเราเอง คิดแบบเราในเรื่องของเขา ส่วน “Empathy” คือการมองทุกอย่างจากสายตาและมุมมองของเขา เข้าใจผู้อื่นจากจุดที่เขายืนอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออกระหว่าง “ความรู้สึกของตัวเราเอง” หรือ “ความรู้สึกของอีกฝ่าย”
ยกตัวอย่างเหตุการณ์
เพื่อน ซึ่งเป็นเด็กเรียนดี ระดับ Top 3 ทำคะแนนสอบไม่ได้ตามที่เขาและครอบครัวคาดหวังไว้ ทำให้ไม่ยอมมาเรียนหลายวันติดต่อกัน และคุณไปตามหาเพื่อน
Sympathy : “ไม่เป็นไรนะ ได้ตามเป้าบ้าง พลาดเป้าบ้าง มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ยังไงคะแนนของเธอก็มากกว่าอีกหลายๆ คน พ่อแม่ไม่ว่าอะไรหรอก คนเก่งๆ แบบเธอรอบหน้าไม่พลาดแน่นอน”
Empathy : “เรารู้ว่าเธอเสียใจ และมันไม่ง่ายที่จะทำใจในตอนนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่ตัวเธอเองแต่ยังมีความรู้สึกของพ่อแม่ด้วย แต่เราเชื่อว่าเธอทำดีที่สุดเสมอไม่ว่าเรื่องอะไร และอยากให้รู้ว่าเราอยู่ข้างๆ ไม่ได้ไปไหน”
Empathy สร้างได้
แม้ว่า Empathy จะเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวตามธรรมชาติสำหรับบางคน แต่ทุกคนก็สามารถฝึกฝนและพัฒนาให้เก่งขึ้นได้ โดยสามารถเริ่มต้นได้จากการฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในการอยู่ร่วมกันกับผู้คนรอบกาย ทั้งกับคนในครอบครัว เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือเพื่อนร่วมงาน
ทุกคน... ทุกเพศ... ทุกวัย... ทุกสังคม... ล้วนต้องการ Empathy
การแสดงออกถึง Empathy ไม่ได้หมายถึงแค่การเข้าใจ แต่ยังหมายถึงการช่วยเหลือผู้อื่นในยามที่เขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำ การช่วยแบ่งเบาภาระ หรือแม้แต่การให้เวลาเพื่อฟังเขา..... หากมีโอกาส เราควรทำ
... มาเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ และบ่มเพาะต้นกล้า Empathy ในตัวคุณ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งความสุขไปด้วยกัน ...
................................................................................................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#Empathy #Sympathy #TSU #TSU_Care #สุขภาพจิต #ฮีลใจ #สังคมแห่งความสุข #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSUnews #weTSU
อ้างอิง
- คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.(2565) “เราเข้าใจเธอนะ” บนโลกออนไลน์.เข้าถึง 4 ธันวาคม 2567 จากhttps://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/online-empathy/
- คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.(2560) Empathy – การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น.เข้าถึง 4 ธันวาคม 2567 จากhttps://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/empathy/
- Urbinner.(2564) Empathy คืออะไร? สำคัญอย่างไรในที่ทำงาน.เข้าถึง 4 ธันวาคม 2567 จากhttps://www.urbinner.com/post/what-is-empathy-how-does-it-important-in-the-workplace
- Urbinner.(2562) วิธีการฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย Empathy Mapping.เข้าถึง 4 ธันวาคม 2567 จากhttps://www.urbinner.com/post/practice-empathy-by-empathy-mapping
- on mind way.(2567) Empathy vs Sympathy “ความเข้าใจ” ที่ไม่เหมือนกัน.เข้าถึง 4 ธันวาคม 2567 จากhttps://onmindway.com/empathy-vs-sympathy-%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88-%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99/