ทำความรู้จักกลุ่มไวรัส ที่ออสเตรเลียมีรายงานการสูญหาย

ทำความรู้จักกลุ่มไวรัส ที่ออสเตรเลียมีรายงานการสูญหาย

12 ธ.ค. 67 368

     หลังจากที่มีการเผยข้อมูลข่าวอย่างแพร่หลายไปยังสื่อทั่วโลก ช่วงวันที่ผ่านมา (10 ธ.ค. 2567) (เนื้อหาข่าวจากเวป Fox news) ในเรื่องที่รัฐบาลของออสเตรเลียมีคำสั่งให้หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ เร่งทำการตรวจสอบหลอดเก็บตัวอย่างไวรัส จำนวน 323 หลอด ที่ได้หายไปจากห้องปฏิบัติการในที่ตั้งของรัฐนั้น ซึ่งจาการรายงานไมได้ลงรายละเอียดว่าหายไปได้อย่างไร มีการจงใจเอาออกไป หรือเป็นความบกพร่องของระบบจัดเก็บหรือระบบสอบทาน เราจึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกลุ่ม “ไวรัส” ดังกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพื่อเพิ่มความเข้าใจ การระมัดระวัง และสำคัญที่สุดเพื่อป้องกันการตื่นตระหนก...

นายทิม นิโคลส์ (Tim Nicholls) รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ ที่ออกมาแถลงต่อกรณี พบไวรัสตัวอย่าง หายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาในปี 2564 แต่เพิ่งมีการรายงานว่าตัวอย่างไวรัสดังกล่าวหายไป ในเดือนสิงหาคม ปี 2566

 

ตัวอย่างไวรัสที่หายไปเป็นกลุ่มไหนบ้าง ?

จากการรายงานนั้นเป็นไวรัส 3 กลุ่ม คือ…

1. Hendra virus (เฮนดราไวรัส)              

2. Lyssavirus (ลิซซาไวรัส)

3. Hantavirus (ฮันตาไวรัส)

ไวรัสทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันอยู่ 4 ประเด็น คือ…

1. เป็น RNA virus

2. เป็นไวรัสในกลุ่ม 5 (Group V virus) สารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอเส้นเดี่ยว ชนิดเส้นลบ [negative sense, single-stranded RNA (-ssRNA)]

3. เป็นไวรัสอันตรายก่อโรครุนแรง (deadly virus)

4. การติดเชื้อเป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic infection)

Hendra virus:

จัดอยู่ในแฟมิลี Paramyxoviridae จีนัส Henipavirus โรคติดเชื้อ hendra virus อุบัติเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ในม้าที่เมืองบริสเบน ออสเตรเลีย ม้ามีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ และมีอัตราการตายถึงร้อยละ 75 มีรายงานผู้ติดเชื้อ hendra virus หลายครั้ง โดยรับเชื้อจากม้าที่เป็นโรค แต่พบผู้ป่วยน้อยและเกิดขึ้นในเฉพาะประเทศออสเตรเลียเท่านั้น ไวรัสนี้มีค้างคาวแม่ไก่ ซึ่งเป็นค้างคาวกินผลไม้ (Pteropus) เป็นรังโรค (reservoir) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสจะมีอาการของสมองอักเสบ (encephalitis) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) อัตราการตายประมาณ 70%

Lyssavirus:

Lyssavirus เป็นชื่อไวรัสในระดับจีนัส จัดอยู่ในแฟมิลี Rhabdoviridae ตัวที่มีความสำคัญมากที่สุดในจีนัสนี้คือ Rabies virus หรือ ไวรัสพิษสุนัขบ้านั่นเอง โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคในกลุ่มสมองอักเสบเฉียบพลัน อัตราการตาย 100% ไวรัสนี้มีค้างคาวเป็นสัตว์รังโรค แพร่เชื้อได้โดยไม่มีอาการของโรค โดยเชื้อจะอยู่ที่ต่อมน้ำลาย ไวรัสมีการเพิ่มจำนวนในเซลล์ประสาท และเดินทางจากปลายประสาทเข้าสู่ประสาทส่วนกลาง ไวรัสสามารถก่อโรคในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด

Hantavirus:

Hantavirus เป็นชื่อกลุ่มไวรัสในระดับจีนัส จัดอยู่ในแฟมิลี Bunyaviridae สปีชีส์ที่สำคัญ ได้แก่ Hantaan virus (ฮันตานไวรัส) และ Sin Nombre virus (ซินนอมเบรไวรัส) ไวรัสกลุ่มนี้มีสัตว์ฟันแทะ (rodent) คือ หนูเป็นสัตว์รังโรค/พาหะ มักได้รับเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับสิ่งขับถ่ายจากหนูทั้งปัสสาวะและอุจจาระ โดยหนูที่ติดเชื้อ hantavirus มักไม่มีอาการป่วยทำให้สามารถแพร่เชื้อได้นาน

การก่อโรคของ Hantavirus สามารถแบ่งได้ เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ไข้เลือดออกที่มีกลุ่มอาการทางไตร่วมด้วย (Hemorrhagic fever with renal syndrome) ระยะฟักตัว 3 สัปดาห์ เริ่มมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ต่อมาอีก 5 วันมีอาการช็อค พบจุดเลือดออกตามตัว ใบหน้า เลือดออกในระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท และอาการทางไตวาย ประมาณร้อยละ 50 เสียชีวิตในช่วงนี้จากไตวาย หากได้รับการรักษาดูแลอย่างดี อัตราการตายลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5

2. กลุ่มอาการทางปอด (Hantavirus pulmonary syndrome) พบครั้งแรกเป็นการระบาดในปี พ.ศ. 2536 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แถบตะวันตกเฉียงใต้ มีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 50 พบในทวีปอเมริกาเป็นหลัก อาการทางคลินิกมีความรุนแรงกว่าข้อ 1 เริ่มมีอาการไข้สูง ไอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ตามด้วยอาการช็อค มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด เลือดออก ผู้ป่วยเสียชีวิตจากความล้มเหลวของระบบทางเดินหายใจ

Note :

- Hendra virus คนติดจากม้าที่ป่วย ม้ารับเชื้อมาจากค้างคาว ซึ่งเป็นรังโรคในธรรมชาติ โรคนี้พบแค่ในออสเตรเลียเท่านั้น

- Lyssavirus คนติดจากสุนัข แมว ที่มีเชื้อ หรืออาจจะโดนค้างคาวกัดโดยตรงก็เคยมีรายงาน รังโรคของเชื้อในธรรมชาติคือ ค้างคาว โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ทั่วโลก ยกเว้น ออสเตรเลีย และทวีปแอนตาร์คติกา ในส่วนของออสเตรเลียไม่เคยมีรายงานเคสผู้ป่วยพิษสุนัขบ้า แต่มีเชื้อไวรัสเก็บไว้ในแลบ

- Hantavirus คนติดจากหนูที่มีเชื้อ หนูเป็นสัตว์รังโรคตามธรรมชาติ และอีกเช่นเคย ออสเตรเลียไม่เคยมีรายงายผู้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ แต่ก็มีเชื้อนี้เก็บไว้ในแลบ

 

บทสรุปและมุมมองของผู้เขียน

“ เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก จากการอ่าน/ฟัง และกระแสในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ของข่าวดังกล่าว นั้น...

1. ข่าวไม่ได้ลงรายละเอียด ว่าไวรัสที่หายไปจำนวนสามร้อยกว่าหลอดนั้น เป็นการเจตนาโจรกรรม นำไวรัสไปทำอะไรร้าย ๆ หรือเปล่า อาจจะเกิดจากระบบการจัดเก็บของแลบเองก็เป็นไปได้ ต้องเฝ้าดูอัตราการติดเชื้อในประเทศออสเตรเลีย (หรือพื้นที่อื่น ๆ) ต่อไปว่ามีอุบัติการณ์การติดเชื้อของไวรัสทั้ง 3 กลุ่มว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

2. ส่วนตัวไม่ค่อยให้น้ำหนักว่าจะมีการนำเชื้อไวรัสเหล่านี้ไปดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อทำให้ไวรัสโหดขึ้น ติดต่อได้ง่ายขึ้น เหมือนทฤษฎีสมคมคิด ที่ชอบพูดถึงกรณีโควิด-19 ว่าเกิดจากการที่เชื้อนำไปดัดแปลงในห้องแลบแล้วหลุดรอดออกมา หรือพัฒนาเชื้อเพื่อขายวัคซีนหรือยาต้านไวรัส

3. โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว เชื้อทั้งสามกลุ่ม ไม่ได้ติดกันง่ายๆ เหมือนโควิดที่ติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ การที่จะติดเชื้อไวรัสทั้งสามกลุ่มนี้ได้ต้องไปสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์พาหะ/สัตว์ป่วยหรือสัตว์รังโรค และที่สำคัญปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัสทั้ง 3 กลุ่มที่กล่าวมา ”

--------------------------

เรียบเรียงบทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยสิทธิ์ นิยะสม

อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ