จากปรากฏการณ์สู่แก่นแท้และคุณภาพใหม่

จากปรากฏการณ์สู่แก่นแท้และคุณภาพใหม่

20 มิ.ย. 67 2124

      หลังเสร็จสิ้นโครงการและกิจกรรม TSU 10 Next ซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำสนอผลงานเด่น และทิศ “ทาง” ข้างหน้าที่เป็นพันธสัญญาทางการบริหาร (Commitment) โดยคณบดี ผู้อำนวยการ ทุกส่วนงาน รองอธิการบดี และปิดท้ายด้วย TSU 10 Next Reflection โดยอธิการบดี เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2567 ณ หอเปรมดนตรี และหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง ตามลำดับ

      ข้าพเจ้าเจออาจารย์อาวุโสที่น่ารักท่านหนึ่งโดยบังเอิญที่ตึกโดม คุ้นเคยกันมานาน เรายิ้มทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันตามปกติวิสัย

      “งาน TSU 10 Next เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ..พี่ไม่เคยเห็นที่ผู้บริหารทุกคนนำเสนอผลสำเร็จ ผลงานเด่น งานที่จะทำในอนาคต ในเวทีเดียวกัน คึกคัก คับคั่ง เสียงปรบมือยาวๆ นานๆ ตอนนำเสนอผลงานเด่นที่โดน พูดแล้วขนลุก” เธอเล่าด้วยสีหน้า แววตา เอิบอิ่ม ประทับใจ

     ข้าพเจ้าหัวใจพองโต นึกถึงบรรยากาศ 2 วันเต็มๆ ที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน แถวลงทะเบียนรับหนังสือยาวเหยียด การขอลายเซ็น ป้ายไฟจากบรรดาแฟนคลับ เสียงหัวเราะ ปรบมือรัวๆ ยาวๆ ยังเป็นภาพประทับใจชวน ตื้นตัน และอิ่มเอมยิ่งนัก

      TSU 10 Next ถูกออกแบบบนฐานคิดการแชร์ แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และความภาคภูมิใจในผลสำเร็จในภาพรวมของมหาวิทยาลัย จากการต่อภาพจิกซอร์การขับเคลื่อนงานในระดับส่วนงาน การเชื่อมต่อเชิงนโยบาย ที่จะเปิดทางไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วม การสร้างความความฮึกเหิม มั่นใจในการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงตามวิสัยทัศน์ แผนกลยุทธ์และยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย

     ในเชิงการบริหารกิจกรรมนี้มีความคาดหวังที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ

     (1) การสำรวจความสำเร็จ-ความสอดคล้องของงานตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ ที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมและมหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างวัตกรรม หรือ มหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 ภายใต้แผนการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย

     (2) การกำหนดทิศทาง กลยุทธ และยุทธวิธีใหม่ๆเพื่อไปให้ถึงวิสัยทัศน์และสิ่งมุ่งหวังในข้างต้น บนฐานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปัน ปัญญา และ อารมณ์ ความรู้สึกร่วมของบุคลากร ผู้บริหาร การสื่อสารที่แผ่ซ่าน และการผนึกผสานพลังทั่วทั้งองค์กร

     ในเชิงปรัชญานี่คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “วิภาษวิธี” (Dialectic) เพื่อการเปลี่ยนแปลง จาก “ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา-ณ เบื้องหน้า สู่แก่นแท้และคุณภาพใหม่” ซึ่งมีฐานคิดและหลักสำคัญที่ว่าทุกสิ่งอย่างหรือปรากฏการณ์ “งานที่ทำ” ที่เกิดขึ้น ในที่นี้อาจหมายถึงกิจกรรม โครงการ เหตุการณ์ การกระทำ ปฏิบัติการ ฯลฯ ล้วนมีความสัมพันธ์ โยงใยถึงกันอย่างแยกไม่ออก มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไข สถานการณ์กำหนดทั้งภายในภายนอกอยู่ตลอดเวลา

     แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะโน้มนำไปสู่ “แก่นแท้และคุณภาพใหม่” ในความหมายการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าด้านนวัตกรรมสังคมและมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 จะไม่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างที่เข้าใจกันอย่างผิวเผิน หากคือ “กระบวนการสร้าง” เพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด 

     จากดักแด้สู่ผีเสื้อ

     จากน้ำกลายเป็นไอที่จุดเดือด 100 องศาเซลเซียส

     จากประเทศล้าหลังยากจน จีนก้าวกระโดดเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจนวัตกรรม ก้าวล้ำนำโลกด้วยเทคโนโลยี

     จากหลักสูตรเดิมพลิกโฉมสร้างหลักสูตรใหม่ที่ตอบสนองความต้องการผู้เรียน/สังคม

     จากมหาวิทยาลัยในภาพจำเดิม ? สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม

     จากท้องถิ่นสู่ Glocal University

     จากถูกดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี ฟูจิฟิล์ม กลับมาผงาด เติบโตในตลาดเครื่องสำอาง/ เสริมความงาม และเครื่องมือทางการแพทย์อย่างรวดเร็วด้วยวิสัยทัศน์ “Never Stop” ฯลฯ

      TSU 10 Next จึงเป็นกระบวนการเพื่อข้ามพ้นปรากฏการณ์ สู่การทำความเข้าใจในความซับซ้อนที่โยงใย ไปพร้อม ๆ กับการ “ตรวจสอบ/ ทบทวน/ ดัดแปลง สร้างเส้นทาง” ที่สอดคล้อง เป็นไปได้ในการเข้าถึงแก่นแท้และคุณภาพใหม่ ด้วยพันธสัญญา และสำนึกใหม่จากภายในองค์กรย่อยระดับส่วนงานสู่ภาพใหญ่ระดับมหาวิทยาลัยและภายนอก

     เราจะขจัดทุกกับดักที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าขององค์กร เจอกันงานหน้า “TSU Big Move” ข้าพเจ้าลั่น

     เสียงปรบมือรัวๆ ยาวๆ เกรียวกราวทั่วบริเวณ

     ข้าพเจ้ากวาดสายตา สบตาบรรดาผู้บริหาร ทีมงาน และประชาคม”

     สีหน้า แววตา ข้าพเจ้ามั่นใจ..ในเขาและเธอ

......................................................................................................

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ