แสงไฟจะส่องทาง
ฟังด้วยเสียง
0:00 / 0:00

แสงไฟจะส่องทาง

27 พ.ย. 67 1355

       ฝนย่ำรุ่งวันอาทิตย์ตกลงมาเหมือนกับฟ้ารั่ว แม้จะตื่นมาพักใหญ่ในบรรยากาศสบายๆ แต่ข้าพเจ้าไม่เร่งรีบ เลือกนอนอ่าน “นางเอกหลังบ้าน” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ยืมจากสถาบันทรัพยากรการเรียนรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล คราววันจัดกิจกรรมสนทนายามเช้า-Tea Talk ประจำเดือน เมื่อกลางสัปดาห์ก่อน

     ในวิถีที่อ้อยอิ่ง เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวของนวลนิล เด็กสาวผู้มุ่งมาดปรารถนาพาตัวเองไปสู่ฝั่งฝัน สร้างเส้นทางชีวิตใหม่ด้วยการศึกษา อย่างอดทน ตั้งใจ ไม่ย่อท้อ ใฝ่รู้ และสู้งาน

       หวน-คำพ่อสอน

       “จงอุตส่าห์ มานะ อดทน ขยัน ต่อสู้ เพื่ออนาคต”

       น้ำตาพลันรื้นไม่รู้ตัว ตัดสินใจปิดโคมไฟหัวเตียง ลุกจากที่นอน ลงไปหากาแฟ เติมความสดชื่น ให้วันใหม่ กระปรี้กระเปร่า...

       กาแฟพร่องถ้วย สายฝนยังเทกระหน่ำ สมาร์ทโฟนฟีดแม่หยัว ขึ้นมาเต็มหน้าจอ หลังนั่งคุยกับบางใครถึงละครที่หลายคนกำลังกล่าวขวัญในนาทีนี้ ตัดสินใจแบบไม่ลังเล ข้าพเจ้าขึ้นชั้นสองของบ้าน นอนดูละคร ที่นาน ๆ ครั้งจะได้ดู      

       - 1.-

       มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายแง่มุมทีเดียวสำหรับละครเรื่องนี้ ทั้งในแง่มุมการตั้งคำถามว่าคือละครอิงประวัติศาสตร์ หรือคือการบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปจากข้อเท็จจริง ขณะที่ผู้กำกับออกมาชี้แจงว่า แม้จะมีแรงบันดาลใจการผลิตสร้างจากพื้นความรู้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สืบค้นมา ไม่ได้ตั้งใจทำละครสารคดี หรือประวัติศาสตร์ เขาจึงได้แต่งเติม สร้างเสริม เพื่อเพิ่มความสดใหม่ให้ตัวละครและเนื้อเรื่องลงไป

       หรือในฉากที่มีการวางยาสลบแมว ได้บานปลายไปสู่การถกเถียง ร้องเรียนให้มีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเองก็ตื่นตามไปกับเรื่องนี้ถึงขั้นสั่งการให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนกันเลยทีเดียว

       การณ์ดังกล่าวยังได้นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการ #แบนด์แม่หยัว ให้ถอนโฆษณา เป็นต้น

       ในอีกด้านหนึ่ง แม่หยัว ก็มีเสียงชื่นชมไม่น้อยเช่นกัน บ้างก็ว่าคือละครที่ Upskill ทั้งในแง่มุมการแสดง การสร้างโปรดักชั่นใหม่ การสร้างข้อถกเถียงและการไล่เรียงไปสู่การศึกษา ค้นคว้าทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในมุมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ฯลฯ

       ละครลาจอไปแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังดูไม่จบ

       - 2.-

       หนึ่งวันก่อนหน้าการจัดกิจกรรมสนทนายามเช้า ข้าพเจ้าง่วนกับการประชุมและปรึกษาหารือกับทีมงานที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงในหลายเรื่องไปถึงเย็น รู้สึกเปลี้ย ตึงตึ๊บในหัว จึงเลือกไปเดินผ่อนคลายที่ “จุดนัดพบคนรักสุขภาพ-สระมรกต” อันร่มรื่น สองข้างทางเดิน/ วิ่ง วงรอบกว่า 750 เมตร โอบล้อมด้วยไม้ยืนต้นนานาพันธุ์ ช่วยเพิ่มความสงบ ร่มเย็นในวันเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี

       บรรยากาศรอบสระมีนิสิต และนักเรียน นั่งเล่น พูดคุย หยอกเหย้ากันเป็นกลุ่มๆ บ้างทานอาหาร ถ่ายรูป เล่นกีตาร์ ร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน ทำให้สถานที่แห่งนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น ความสดใส ร่าเริงเหล่านั้น มองแล้วทำให้อิ่มใจได้เสมอ

       “จะมีวันวัยใดของชีวิตที่จะมีอิสระและเสรีเท่าชีวิตในมหาวิทยาลัย” ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้แบบนี้ในคราวหนึ่งของการรับขวัญนิสิตใหม่

       เดินไปรอบกว่าๆ สมาร์ทวอชบนข้อมือบอกเวลา 18.15 น. ความมืดเริ่มห่มคลุมสระมรกต ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายวันเวลาขึ้นมาพลัน อย่างที่รู้กันช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ความมืดจะเดินทางมาถึงเร็วกว่าปกติ ดีที่มีแสงไฟจากหอพักบุคลากรและหอพักนิสิตฝั่งตรงข้าม บวกไฟส่องทางสาดผ่านทิวไม้เข้ามายังพอให้เห็นบรรยากาศรอบตัวได้อยู่บ้าง

       ละสายตาจากโลกเสมือนจริง ชื่นชมโลกธรรมชาติ ฟังเสียงนกไพร และหัวใจเต้น

       ในฐานะนักสังคมวิทยาต้องอยู่กับสนาม ในฐานะนักบริหารคำตอบอยู่ที่หน้างาน

       ข้าพเจ้าเลาะเลียบเดินเข้าไปถามนักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ ฝ่ายมัธยม หญิงชายกลุ่มหนึ่งที่กำลังเล่นกีตาร์ร้องเพลงกันอยู่

       “มืดไปหรือเปล่า? ”

       “สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูชอบบรรยากาศแบบนี้” เหมือนใครคนหนึ่งในกลุ่มจะคลับคล้ายคลับคลาจำข้าพเจ้าได้

       ข้าพเจ้ายิ้มให้พวกเขาแล้วเดินจากมา นิสิตอีกกลุ่มใกล้ๆ กัน พวกเขากำลังทานอาหารกันอย่างเอร็ดอร่อย ฟังว่าเป็นนิสิตจากคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา

       “โรแมนติกค่ะ” เป็นคำตอบต่อคำถามเดียวกัน

       ไม่นานไฟส่องทางอีกชุดก็สว่างจ้า เหล่านิสิต นักเรียน ทยอยลุกเดินกลับหอพัก ประหนึ่งสุนทรียศาสตร์มลายหายไปกับความสว่างไสว อย่างไรอย่างนั้น

       ข้าพเจ้ายิ้มให้กับตัวเอง ก่อนสาวเท้ากลับที่พัก ครุ่นคิดไปตลอดทาง ด้วยความห่วงใย แรกทีเดียวกลัวว่ายามค่ำคืน “จุดนัดพบคนรักสุขภาพ-สระมรกต” แห่งนี้จะมีแสงสว่างไม่เพียงพอ หากแต่เมื่อได้พบปะไถ่ถามจึงรู้ว่า บางครั้งความสลัวรางก็สร้างสุนทรียะให้ใครหลายคน

       สิ่งที่คิด สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

       - 3.-

       การทำงาน ย่อมมีการมองต่างมุม/ มุมที่ต่างออกไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา จะด้วยปรัชญา ความคิด โลกทัศน์ มุมมอง จุดยืน อุดมการณ์ การถูกหล่อหลอม ช่วงชั้น ตำแหน่งแห่งที่ ฯลฯ หากยึดติด ไม่พยายามประสานมุมที่แตกต่างหลากหลาย อาจกลายเป็นความขัดแย้ง สร้างความเปราะบาง อ่อนแอให้กับปัจเจกบุคคลและองค์กรได้

       ในทางกลับกันการให้ความสำคัญกับคนอื่น จนลืมตรวจสอบตัวเอง และ/หรือเป้าหมายองค์กรในภาพรวม อาจทำให้เกิดภาวะชะงักงัน หยุดนิ่ง ไม่พัฒนา ได้เช่นเดียวกัน

       การให้ความสำคัญกับ “เป้าหมาย” ในเชิงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ การเปิดใจกว้าง สร้าง “สะพานเชื่อมโยง และหลอมรวมความต่าง” ให้ตกผลึกเป็นหนึ่งเดียว (One From Many) เปิดพื้นที่ทางความคิด ผ่านการสนทนา พูดคุยอย่างเปิดกว้าง-มีวิจารณญาณ การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เติมเต็มประสบการณ์-การรับรู้ใหม่ๆในการเปลี่ยนแปลงรายรอบ-ไกลออกไป และการหมั่นสรุปบทเรียน จากการปฏิบัติการในสิ่งนั้น จะเป็นฐานการเติบโตที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน ในแง่มุมการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์อันเหลือเชื่อ ประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และความท้าทายใหม่ให้ชีวิตคนและองค์กร

       - 4.-

       แสงไฟจะส่องทาง

       นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา ไม่มี

       นึกถึงคำในพุทธสุภาษิต ข้าพเจ้ายิ้มกับตัวเอง

 

.........................................

 

       รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

       อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ