เป็นข่าวฮือฮาอยู่ไม่น้อย เมื่อ Oxford English Dictionary สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Oxford University Press) ประกาศให้คำว่า Brain Rot เป็นคำศัพท์แห่งปี ประจำปี 2024 (Oxford Word of the Year 2024) โดยให้คำนิยามความหมาย Brain Rot ว่า “สมองเน่า” หมายถึงความเสื่อมถอยทางจิตใจและสติปัญญา อันมีสาเหตุและผลกระทบมาจากการบริโภค เนื้อหาสาระ ข้อมูลข่าวสาร ที่มีคุณภาพและคุณค่าต่ำ ทางโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต ที่เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน “จนล้นเกิน” กระทั่งเกิดผลกระทบในทางลบในวงกว้างต่อปัจเจกบุคคลและสังคมในมิติต่าง ๆ
มีรายงานก่อนหน้าที่เชื่อมโยงกับเรื่องนี้โดยตรง จากการที่ผู้คนบริโภคข้อมูลที่มากจนเกินไป (Information Overload) หลังถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในแพล็ตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “หมดไฟทางดิจิทัล” หรือ Digital Burnout
ภาวะหมดไฟทางดิจิทัล” หรือ Digital Burnout แสดง/สะท้อนออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การเพิกเฉย เฉยเฉื่อย ทุรนทุราย กระสับกระสาย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ขาดสมาธิ สมาธิสั้น ภูมิคุ้มกันทางอารมณ์และสังคมบกพร่อง ฯลฯ เดวิด เลวิส (David Lewis) นักจิตวิทยา ชาวอังกฤษ เรียกลักษณะภาวะอาการนี้ว่า “ภาวะอ่อนล้าจากข้อมูล” หรือ “Information Fatigue Syndrome” (IFS)
ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ล้นทะลัก เนื้อหา สาระที่ยากจำแนกแยกแยะ จริง เท็จ กลวง ลวง พราง ปั่น เต้าข่าว ในยุคปัจจุบัน ยิ่งเร่ง สมองเน่า ! ให้เร็วขึ้น
รู้ได้อย่างไร ? สมองเน่า สังเกตง่าย ๆ
ติดเกมส์ออนไลน์ การเลื่อนหน้าจอ ที่ภาษาไทยใช้คำว่า “ไถ” หน้าจอแบบว่างเปล่า ไร้จุดหมาย ไร้ประโยชน์ ไร้จิตวิญญาณ (Zombie Scrolling) เสพค้นข้อมูลเชิงลบ ที่สร้างความวิตกกังวล สร้างความรำคาญ ไม่สบายใจและคาดหวังข้อมูลใหม่ๆที่ทันสมัยในเรื่องนั้น (Doomscrolling) เสพติดโซเชียลมีเดีย (Social Media Addict) และหิวแสง (Spotlight Effect) เป็นต้น
“สมองเน่าเป็นคำที่สื่อถึงอันตรายของชีวิตในโลกเสมือนจริง การใช้เวลาว่าง และบทสนทนาทางวัฒนธรรมถึงใช้ชีวิตที่เหมาะสมในระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ชาติกับเทคโนโลยี” แคสเปอร์ กราทฮ์โวฮ์ (Casper Grathwoh) ประธานOxford Languages สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวย้ำ เชิงตั้งคำถามให้ฉุกคิด
สมองเน่า ยังส่งผลกระทบสำคัญต่อ(จิต)ใจ หรือ “Mind” เป็นอย่างมาก ซึ่งในทัศนะของข้าพเจ้า ส่วนสำคัญที่สุดของMind คือ หัวใจ และจิตวิญญาณ จะค่อยๆถูกลดทอน ด้อยค่า ทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ ทัศนะและการมองโลกแบบลบร้าย ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและโลก (Egocentrism) สร้างและช่วงชิงความเด่นดัง หิวแสง กลัวตกกระแส FOMO เรียกร้องความสนใจ ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจ อิจฉาตาร้อน เปราะบาง อ่อนไหว ไบโพลาร์ เป็นต้น เป็นปรากฏการณ์และอาการที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “ใจพิษ”
จะออกจากหลุมดำ-กับดักสมองเน่า ใจพิษ อย่างไร ?
อาจมีหลายวิธี ทั้งในแง่มุมการออกและบังคับใช้ทางกฎหมาย การรณรงค์ ส่งเสริม การเสริมสร้างความตระหนัก เท่าทันเทคโนโลยีทางดิจิทัล โซเชียลมีเดีย อาทิ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐสภาออสเตรเลีย ได้ผ่านร่างกฎหมายแก้ไขความปลอดภัยออนไลน์ และกำหนดให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่จำกัดอายุ ต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวออสเตรเลียที่อายุต่ำกว่า 16 ปี มีบัญชีบนแพลตฟอร์มของตน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี ค.ศ.2025
แอนโทนี่ อัลบาเนเซ (Anthony Albanese) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แถลงเหตุผลและความจำเป็นของกฎหมายต่อรัฐสภา ไว้อย่างน่าสนใจ ความตอนหนึ่งว่า
“เราทราบดีว่าโซเชียลมีเดียสามารถเป็นอาวุธของผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการกดดัน สร้างความวิตกกังวล โอกาสของนักต้มตุ๋น และที่เลวร้ายที่สุดคือมันถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักล่าเหยื่อทางออนไลน์”
ในเชิงรณรงค์ เสริมสร้างความฉลาดรู้ เท่าทัน กันสมองเน่า ใจพิษ อาจมีข้อเสนอ แนวทาง และวิธีการกว้าง ๆ เช่น
- การจำกัดเวลาในการเล่น/ ใช้งานที่ชัดเจน เป็นเวลา ไม่พร่ำเพรื่อ
- ใจแข็งกับการจัดการหน้าฟีดเชิงคุณภาพ -ออกไปสัมผัสกับโลกธรรมชาติ สายลม แสงแดด น้ำค้าง ยอดหญ้า เดินป่า แคมปิง ดูนก ชื่นชมผีเสื้อ ดอกไม้ ....
- สร้างสุนทรียะให้กับชีวิต ครอบครัว กลุ่มชน ญาติ เพื่อนสนิท มิตรสหายในโลกOffline อย่างการ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ฯลฯ
- ร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมสาธารณะที่เสริมสร้างความเป็นพลเมืองและประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม
- ล้างพิษทางดิจิทัล (Digital and Social Media Detox) ด้วยการหยุดเสพ หยุดเล่นเป็นครั้งคราว
ง่ายๆ เพียงนี้ สมองดี ใจงาม...
...................................................................
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
สงขลายามเย็น วันฝนซา