ดาหลาคุณค่าจากผืนป่า
ฟังด้วยเสียง
0:00 / 0:00

ดาหลาคุณค่าจากผืนป่า

10 ธ.ค. 67 232

“ดาหลา” ไม้ดอกสีสันสดสวย งดงามเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นด้วยกลีบดอกหลายชั้นเรียงตัวกันคล้ายคบเพลิง ความหลากหลายของสีสันและรูปทรงที่มีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาประดับตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเพิ่มความสวยงามให้สถานที่ ดอกดาหลามีรสชาติที่เผ็ดร้อน ซ่า อมเปรี้ยว และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ชาวปักษ์ใต้จึงนิยมนำมาประกอบอาหารพื้นถิ่นหลายอย่าง โดยเฉพาะทำข้าวยำปักษ์ใต้ อาหารพื้นถิ่นขึ้นชื่อ ดอกดาหลาไม่เพียงช่วยเพิ่มรสชาติ แต่ยังช่วยเพิ่มสีสันให้กับจานอาหารได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังมีสรรพคุณช่วยขับลมและลดเสมหะ

ดาหลามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับขิง ข่า ขมิ้น (Zingiberaceae) เป็นพืชพื้นถิ่นทางปักษ์ใต้ที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณป่าร้อนชื้นของประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การกระจายพันธุ์ในป่าเขตร้อนที่ชื้นและร่ม ครอบคลุมภาคใต้ของประเทศไทย มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่น ซึ่งส่วนนี้คือลำต้นเทียม ดอกมีขนาดใหญ่ มีหลายสี ไม่ว่าจะเป็นแดง ชมพู โอลโรส และขาว ก้านดอกยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ออกดอกตลอดทั้งปีและออกเยอะในช่วงฤดูร้อน

ดาหลามีศักยภาพทางการตลาดที่หลากหลาย เป็นไม้ตัดดอกอีกชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศ โดยมีราคารับซื้อจากเกษตรกรอยู่ที่ราคาดอกละ 5-15 บาท ราคาขายที่ปากคลองตลาดราคา ดอกละ 40-50 บาท นอกจากการใช้งานเป็นไม้ตัดดอกแล้ว ดาหลายังมีการใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับเพื่อตกแต่งสวนหรืออาคารสถานที่ เช่น โรงแรม สปา สวนอาหาร เป็นต้น ความหลากหลายของดาหลาทำให้ดาหลาตอบโจทย์ เทรนด์ความต้องการของตลาดที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สำหรับนักสะสม หน่อดาหลามีราคาสูงถึง หน่อละ 200-450 บาท ดาหลาที่ปลูกแบบอินทรีย์จะได้รับความสนใจจากเชฟของโรงแรมเพื่อนำไปประกอบอาหารพรีเมี่ยม นอกจากนี้ดอกดาหลายังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางเนื่องจากมีสรรพคุณทางยา ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ลมพิษ โรคผิวหนัง ป้องกันโรคเก๊าท์ ยับยั้งการสร้างเม็ดสี และกระตุ้นคอลลาเจน เป็นต้น  

        

ดาหลาไม่เพียงแต่เป็นพืชที่มีโอกาสทางการตลาดที่สามารถพัฒนาและเพิ่มมูลค่าได้อีกมากมาย แต่ด้วยเป็นพืชที่มีพื้นเพมาจากป่าจึงเหมาะสมกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้ซึ่งมีการปลูกยางพาราและไม้ผลเป็นหลัก การปลูกแซมในสวนยางพาราหรือสวนไม้ผลจะไม่แย่งอาหารจากพืชหลัก และยังช่วยสร้างระบบนิเวศในสวนยางหรือสวนไม้ผลให้ดีขึ้น ทรงพุ่มที่สูงตระหง่านไม่ใช่แค่รูปร่าง แต่ยังมีความทนทาน ดาหลาสามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย ตั้งแต่ฝนตกหนัก ลมแรง หรือแม้แต่แล้ง สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ตลอดทั้งปี เพิ่มโดยไม่ต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูกและไม่ต้องให้เพิ่มเติมอีก  ดาหลาจึงเป็นทรัพยากรพืชท้องถิ่นที่มีทั้งมูลค่าและมีคุณค่าต่อระบบนิเวศ  

.................................

เรียบเรียงบทความโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขุมาล หวานแก้ว สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาชุมชน คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน

แหล่งข้อมูล
- ทอล์คนิวส์ออนไลน์. 2566. มหัศจรรย์ดอกดาหลาพืชร่วมยางสร้างรายได้. แหล่งที่มา: https://www.talknewsonline.com/555386/# สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2566
- พวงเพ็ญ ศิริรักษ์. (2551). การศึกษาพืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ในประเทศไทย. NU International Journal of Science, 5(2), 119-128.
- เสาวลักษณ์ กิตติธนวัตร. 2563. สถานการณ์และทิศทางไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทยในปี 2563. สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร. แหล่งที่มา: https://www.doa.go.th//hort/wp-content/uploads/2020/03/สถานการณ์และทิศทางไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทยในปี-2563.pdf สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2566
- Yunus, M. F., Ismail, N. A., Sundram, T. C. M., Zainuddin, Z., & Rosli, N. M. (2 0 2 1 ). Commercial potentials and agronomic status of Etlingera elatior, a promising horticulture plant from Zingiberaceae family. AGRIVITA, Journal of Agricultural Science, 43(3), 665-678.