นิสิตวิทยาลัยนานาชาติ TSU นักศึกษาแพทย์ อินโดนีเซีย  Workshop แลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรม

นิสิตวิทยาลัยนานาชาติ TSU นักศึกษาแพทย์ อินโดนีเซีย Workshop แลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรม

4 ก.พ. 68 71

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ให้กับนิสิตจากหลักสูตรศึกษาศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษของวิทยาลัยนานาชาติ (B.Ed. International Program) และนักศึกษา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย UNISMA Universitas Islam Malang ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้หัวข้อ “Cross-Cultural Experience Workshop on : How Societal, Technological, and Cultural Shifts Have Impacted Student Well-Being”

กิจกรรมดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมกับคณะนักศึกษาจากต่างชาติควบคู่ไปกับการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ผ่านการร่วมวงเสวนากับ Dr. Kevin F. F. Quigley ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการฟูลไบรท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเหล่าคณาจารย์ที่ยอดเยี่ยมของวิทยาลัยนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ ดร.พรรณยุพา ธรรมวัตร, อาจารย์วิธวินท์ ศิริพูนทรัพย์, อาจารย์อริยาภรณ์ มโนใจ, Dr. Yejin Kim และDr. Hassan

    

    

กิจกรรมนี้จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ภายใต้รูปแบบการจำลองชั้นเรียนสัมมนาแบบ Active Classroom ที่เน้นการเปิดพื้นที่ให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ก่อนจะได้ร่วมกันฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การทำ Workshop และการสังเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นชุด Infographic และ Mind Map ในประเด็น “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของนิสิต”

ช่วงที่ 1 เปิดวงสนทนาระหว่างกลุ่มนิสิต

เป็นการเปิดวงสนทนาระหว่างกลุ่มนิสิตและคณาจารย์จาก 2 มหาวิทยาลัยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ของนิสิตในแต่ละประเทศเกี่ยวกับการนำเอาเทคโนโลยีอย่าง AI และ Internet-based applications เข้ามาใช้ในกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนและในชีวิตประจำวัน โดยเน้นพูดคุยในประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อรูปแบบการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประจำวันในแต่ละบริบทวัฒนธรรมและช่วงอายุ หลังการเปิดวงสนทนา นิสิตจากทั้งสองสถาบันได้ร่วมกันสร้างแผนภาพนำเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นของทีมตนเพื่อนำเสนอ

ผลลัพธ์ของการทำกิจกรรมในช่วงแรกพบว่า นิสิตเกิดกระบวนการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมซึ่งได้ค้นพบทั้งความเหมือนและความแตกต่าง ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ด้านการศึกษาและความบันเทิงของคนในรุ่นเดียวกัน และพบว่าในช่วงวัยนี้ การใช้อินเทอร์เน็ตและมือถือกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของ Gen Z ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการใช้หรือเลือกใช้แอปพลิเคชันที่แตกต่างกันไปตามความนิยมในประเทศของตน แต่ทุกคนต่างตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญของการใช้อย่างชาญฉลาดและรู้เท่าทันเทคโนโลยี พร้อมเพิ่มมิติของการใช้อย่างมีสติและพอประมาณเพื่อรักษาสมดุลระหว่างโลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริง

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าประสงค์ และความตั้งใจในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของอาจารย์ ดร.พรรณยุพา ธรรมวัตร ผู้รับผิดชอบกิจกรรมหลัก ที่ได้กล่าวไว้ว่า “เหตุผลที่เลือกจับเอาประเด็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยี AI และ Social Media มาเป็นธีมกิจกรรมครั้งนี้เนื่องจากว่า เราเห็นธรรมชาติของนิสิตนักศึกษาปัจจุบันว่ามีความพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้ในการใช้ชีวิตสูงมาก ทั้งในพื้นที่ของการเรียนและนอกห้องเรียน การเลือกหัวข้อนี้คือการกระตุ้นเตือนให้เขาได้เกิดการตั้งคำถามว่า เขาควรใช้มันอย่างไร ให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ที่มากไป ซึ่งตรงกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Digital Literacy คือ ความฉลาดทางดิจิทัล”

    

ช่วงที่ 2 แลกเปลี่ยนมุมมองแบบข้ามวัย

เป็นการเปิดวงเสวนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และนิสิตนักศึกษา เพื่อให้โอกาสให้นิสิตได้ตั้งคำถามในประเด็นที่ตนสนใจต่อผู้เชี่ยวชาญในกิจกรรมนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนมุมมองแบบข้ามวัย (Cross-Generation) ว่าผู้คนในแต่ละ Gen มีประสบการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีออนไลน์และ AI อย่างไรบ้าง

    

    

สำหรับกิจกรรมช่วงที่ 2 พบว่านิสิตให้ความสนใจในการแลกเปลี่ยนมุมมองกับ Dr. Kevin F. F. Quigley ผู้เชี่ยวชาญจาก ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Dr. Yejin Kim จากประเทศเกาหลีในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ขยายของวัฒนธรรม K-pop และ Beauty Standard แบบเกาหลีในไทยและอินโดนีเซีย การแบน TikTok ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา การรับมือกับปัญหาความเครียดจากอาชญากรรมออนไลน์อย่าง Cyberbullying ไปจนถึงการคัดลอกผลงานวิชาการ และการคัดกรองข้อมูลจากโลกออนไลน์ที่เส้นแบ่งระหว่าง “ข้อเท็จจริง” กับ “Fake News” ยังค่อนข้างพร่าเลือน ทั้งนี้ความพิเศษที่สังเกตได้ชัดในกิจกรรมช่วงที่ 2 คือ มุมมองความคิดของนิสิตที่มีความเติบโต และลึกซึ้ง ซึ่งสะท้อนผ่านการพูดคุยร่วมกับวัยผู้ใหญ่ ทำให้เห็นว่าการเปิดโอกาสและให้พื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองแบบข้ามวัย จะช่วยพัฒนาความเติบโตทางความคิดให้กับนิสิตได้อย่างดี

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของวิทยาลัยนานาชาติในการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจและตระหนักถึงการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพหุวัฒนธรรมที่เปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และค่านิยม ควบคู่ไปกับการเป็นผู้มีความสามารถในการรักษาและเผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นสู่เวทีระดับสากล

........................................................................................ 

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#วิทยาลัยนานาชาติ_มหาวิทยาลัยทักษิณทักษิณ #IC #ICTSU #TSUNEWS #TSU #มหาวิทยาลัยทักษิณ #Fulbright #Fulbrighter #USA  #ActiveClassroom  #CrossCulturalExperience