ถอดรหัสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง  TSU Decoding for Change

ถอดรหัสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง TSU Decoding for Change

11 ธ.ค. 66 1384

การกำหนดแผนกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ และหมุดหมายมหาวิทยาลัยทักษิณ ปี 2566-2570 ในลักษณะพลิกโฉม การเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายแบบก้าวกระโดดที่เรียกว่า TSU Moonshot  ต้องหมั่นถอดรหัสนัย (Decoding) ของการเติบโต ความก้าวหน้า ความสำเร็จ และ/หรือความล้มเหลวระหว่างทาง ขณะสายตาจับจ้องดวงจันทร์อย่างจริงจังและมุ่งมั่น

การถอดรหัสนัย (Decoding) คือ การแปลงแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติการ การวิเคราะห์ปรากฏการณ์สู่ธาตุแท้ การยกระดับจากรูปธรรมยกระดับสู่นามธรรม และที่สำคัญคือสะท้อนย้อนกลับ (Reflection) เพื่อการปรับเปลี่ยน บทเรียน ชุดความรู้ คุณค่า ประสบการณ์ และทางใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้

“สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาอาจไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง สิ่งสำคัญต้องมองด้วยหัวใจ ไม่ละเลยเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ-ไม่ว่าจะนรกหรือสวรรค์ ความสำเร็จหรือล้มเหลว หากถอดรหัสนัยออกมา มันจะกลายเป็นบทเรียน ประสบการณ์ และปัญญาอันล้ำค่าที่จะทำให้แข็งแกร่งเติบโตไปข้างหน้า” ข้าพเจ้ากล่าวไว้ตอนหนึ่งของการสัมมนา “ถอดรหัสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง”  (TSU Decoding for Change)  เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน

“การเดินทางอาจไม่เป็นอย่างที่หวัง” มีมากมายในเชิงนโนยายและการวางแผนที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวก เชิงลบ เกิดความผิดพลาดที่คาดไม่ถึง

...ดังปรากฏการณ์งูเห่า (Cobra Effects) ครั้งหนึ่งประเทศอังกฤษเจ้าอาณานิคมปกครองอินเดียออกนโยบายสร้างแรงจูงใจกำจัดงูเห่าที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในเมืองเดลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่หลังย้ายมาจากกัลกัตตา ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนนำซากงูเห่ามาขึ้นรางวัล นับเป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยม งูเห่าลดลงอย่างรวดเร็ว แต่กลับมีคนหัวใสหันมาเพาะพันธุ์งูเห่า เพื่อหวังนำไปขาย/ขึ้นรางวัลแทนกับรัฐบาล เมื่อเห็นทีว่าเสียรู้ รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายดังกล่าวในทันที นักเพาะพันธุ์งูเห่าจึงพร้อมใจกันนำงูไปปล่อยในที่ต่าง ๆ เกิดการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนงูมากกว่าเริ่มต้นนโยบายด้วยซ้ำไป

...ทันที่รีด แฮสติ้ง (Reed Hasting) ซีอีโอผู้ก่อตั้ง Netflix ประกาศนโยบายรัดเข็มขัดและปลดพนักงานให้เหลือ 1 ใน 3 อันเนื่องมาจากวิกฤตทางเศรษฐกิจในวงการไอที ปี 2001 เขาคาดการณ์ว่าจะเกิดความตึงเครียดและต่อต้านอย่างขนานใหญ่ในองค์กร กลายเป็นว่าพนักงานที่เหลือต่างขยัน ทุ่มเทสุดกำลังในการทำงาน พนักงานมีความสุขจากการทำงานหนัก ประสิทธิภาพและประสิทธิผลองค์กรเติบโตต่อเนื่องถึง 300 เท่า ในอีก 20 ปีต่อมา

“การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงมักยุ่งยาก จักยุ่งเหยิงในลำดับถัดมา แต่ให้เชื่อเถือว่าจะงดงามในบั้นปลาย” ในเชิงการบริหารจึงต้องให้ความสำคัญกับการข้ามหุบเหวมรณะ ความสิ้นหวัง ภาวะไร้ระเบียบ การต่อต้านฯ ด้วยการสร้างสะพานเชื่อมแห่งการเปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้นไปสู่อนาคต/ดวงจันทร์อันเป็นเป้าหมาย เช่น การสื่อสารที่แผ่ซ่านทั้งองค์กร การผสมผสานผสานมาตรการ Carrot and Stick  ที่เหมาะสม-ลงตัว การสร้างขวัญกำลังใจ การปลุกพลัง การเติมเรื่อง MoonShot Think เป็นต้น

ผู้นำต้องไม่กลัวที่จะบาดเจ็บ คิดให้ยาก (กล้าฝัน/กล้าท้าทาย) ทำให้ง่าย-ง่ายงาม ความสำเร็จก็จะตามมา  การไปสู่ดวงจันทร์เป็นไปได้เสมอ จากความมุ่งมั่นของผู้นำระบบการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพ การฟังอย่างลึกซึ้งและตั้งใจ (Deliberative and Deep Listening)  การสร้างพันธสัญญาและข้อตกลงร่วม การ Coaching กับทีมทุกระดับต่อเนื่อง สม่ำเสมอ การร่วมปฏิบัติการอย่างกลมกลืนในงานริเริ่มหรือพัฒนาขึ้น

การสะท้อนย้อนคิดและการติดตาม (Reflection and Monitoring)  ประสบการณ์ ไม่สำคัญเท่า พลังงานที่ปลดปล่อย และความกระตือรือร้นที่ทุกคนสัมผัสได้ เส้นทางไปสู่ดวงจันทร์ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝัน มหาวิทยาลัยสามารถเติบโตและก้าวหน้าได้ จากความสำเร็จเล็กๆ ที่เราทุกคนรับผิดชอบ และลงมือทำด้วยหัวใจ มีรหัสนัยมากมายให้เรียนรู้

 

เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
จากโครงการสัมมนาผู้บริหาร มหาวิทยาลัยทักษิณ  ”TSU Decoding For Change“
เมื่อวันศุกร์ ที่ 8 ธันวาคม 2566  ณ หอประชุม ชั้น 2 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ