มีรายงานทางจิตวิทยาทางการแพทย์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะที่เรียกว่า “การเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากเกินไป” (Empathy Fatigue Syndrome) จากการดำดิ่ง ถลำลึก หรืออินกับปัญหา รู้สึกเห็นอกเห็นใจอย่าง ขีดสุด ทำให้เกิดความวิตกกังวล ทุรนทุราย กลายมาเป็นภัยคุกคามตัวเอง ตกอยู่ในภาวะเศร้าหมอง หมดไฟ หมดพลังในการทำงาน
เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าพูด/ เขียนถึงปัญหาสังคมการเมืองไทยว่า ความขัดแย้ง ที่บาดลึก ความรุนแรงทั้งในเชิงภายภาพและวัฒนธรรมที่แสดงออกต่อกันเป็นมาจากการปราศจากความอดทน อดกลั้น ต่อความเห็นต่าง การไม่เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญคือการไม่มีความเห็นอกเห็นใจในระดับสังคมเป็นเข็มทิศนำทาง สร้างสรรค์ที่จะทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข (Peaceful) เท่าเทียมได้
สองเรื่องนี้อาจฟังดูย้อนแย้งขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว ?
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าสนทนากับผู้นำชุมชนในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา เธอปรับทุกข์ถึงปัญหาในชุมชน แก้ไม่ได้ ไม่คืบหน้า ความทุกข์ยาก ลำบากของพี่น้องชุมชน ฯลฯ ทำให้รู้สึกซังกะตาย เจ็บปวด หมดไฟ หมดแรง สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้
“อย่ากระโดดลงไปในทะเลทุกข์ จมดิ่งกับปัญหา เป็นเดือดเป็นร้อนกับทุกข์ยาก ของชุมชนมากเกินไป” ข้าพเจ้าเอ่ยแนะนำไป...ในวันนั้น
เธอมองหน้าข้าพเจ้าแบบงงๆ ค้างคา
ข้าพเจ้านิ่งเงียบ - ความเงียบทำให้ได้ยินเสียงเรียกร้องของหัวใจ
พลังและแรงผลักดันจากความเงียบ - เธอยังเดินไปในเส้นทางนั้น ขณะหลายคนเปลี่ยนฝัน ผันเส้นทาง
เราจะเห็นอกเห็นใจกันได้อย่างไร ถ้าไม่รับรู้อย่างเต็มใจ พยายามทำความเข้าใจในความเจ็บปวด และร้าวรานนั้น ถ้าไม่ทำสิ่งนั้น ความเห็นอกเห็นใจไม่เคยมีอยู่จริง เบรเน่ บราวน์ กล่าวไว้อย่างนั้นใน What Is Empathy Fatigue? (And 12 Ways To Overcome It)
ข้าพเจ้าคิดว่าการเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากเกินไป (Empathy Fatigue Syndrome) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดำดิ่ง/ถลำลึก/หมกมุ่น ในสิ่งที่รับรู้/ รู้สึกกระทั่งกลายเป็นสิ่งกางกั้น พันธนาการไว้อย่างแน่นหนา และ จะยิ่งรัดรึง ขึงตรึงไว้มากขึ้นไปอีก หากลดทอนความเห็นอกเห็นใจนั้นไว้เพียงในระดับปัจเจกบุคคล
กรรม โชคชะตา หรือความคิดแบบสงเคราะห์เมตตา สงสาร เป็นบุญสุนทาน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตผลของการผลักไสไล่ส่ง หรือเห็นอกเห็นใจแบบผิวเผิน
การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่ปัญหา/ ความรู้สึก ความเห็นอกเห็นใจไม่มีอยู่จริง หากทว่าการยกระดับความคิด (Conceptualization) วิเคราะห์ สังเคราะห์เชื่อมโยงให้เห็นถึง “รากเหง้าของปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่ค้ำกั้น ปิดทับ ลดทอน สกัดกั้น จะทำให้สามารถทะลุทะลวงไปสู่การรื้อ/ ปรับ / แก้โครงสร้าง ที่จะทำให้เกิด “การเห็นอกเห็นใจเชิงสังคม” (Social Empathy) ซึ่งเป็นหัวใจและพื้นฐานที่สำคัญของสร้างความหวัง ความก้าวหน้า ก้าวไปข้างหน้าไปด้วยจินตนาการใหม่ๆ ให้บรรลุเป้าหมายสำหรับปัจเจกบุคคลและสังคมไปด้วยกัน - พร้อมๆ กัน
.................
ในเชิงบริหาร ผู้นำต้องทะลุทะลวงความคิด ความรู้สึกแบบหวั่นๆ กล้าๆกลัวๆ - ยากเกินไป ใคร? จะไม่รัก ทำไม่ได้ ฯลฯ ไปสู่ภาพรวมเชิงโครงสร้างใหม่ที่เปิดกว้างเป็นความหวังขององค์กร การโน้มน้าวชักจูงผู้คน/ เพื่อนร่วมงานทุกระดับ ให้เดินไปสู่เส้นทางโอกาสใหม่ๆ ด้วยความความหวัง ความฝัน
ท่ามกระแสลมการเปลี่ยนแปลง การแข่งขันที่หนักหน่วงรุนแรงเช่นปัจจุบัน เราจะเพียงตำข้าวสารตรอกหม้อแค่ “องค์กรอยู่รอด เราอยู่ได้” ย่อมไม่เพียงพอ
“ไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่กลัวตาย” คือหายนะที่แท้
มาร่วมบ่มความเห็นอกเห็นใจเชิงสังคม สร้างความเติบโต ก้าวหน้าขององค์กร ที่ทำให้เราทุกคน เชิดหน้า สง่าผ่าเผย ภาคภูมิในร่มเงาอันอบอุ่นแห่งมหาวิทยาลัยทักษิณ - ไปด้วยกันครับ ...
ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
เขารูปช้าง,วันฝนพรำ - ฉ่ำฟ้า
25 พฤศจิกายน 2566