ฉลามในคลองชลประทาน

ฉลามในคลองชลประทาน

17 ม.ค. 67 2191

          ในวันแถลงนโยบายบริหาร “ร่วมสร้างหมุดหมายสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่แตกต่าง” แก่บุคลากรและเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เมื่อปีกลาย ข้าพเจ้าประกาศเรื่องการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณสู่การเติบโตจากรากสู่โลก (The University of Glocalization)

          จากสถานการณ์ ความท้าทาย สองกระแสในปัจจุบัน กระแสหนึ่งคือภาวะถดถอยของความเป็น โลกาภิวัตน์ (Globalization) จากวิกฤตการณ์โควิด-19 จากการทบทวนโลกาภิวัตน์” (Rewiring Globalization) และกระแสหนึ่งคือโลกาภิวัตน์ที่ลดลง” (Deglobalization) ได้ทำให้เกิดการสร้างความหมายและอัตลักษณ์ใหม่ของความเป็นรัฐชาติ/ท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization) ที่เข้มข้นเด่นชัด แต่ทิศทางการไหลของสองกระแสนี้มีโอกาสของการบรรจบกันมากกว่าเป็นคู่ขนานแบบที่ผ่าน ๆ มา           
         การบรรจบกันบนจุดนัดพบ ทำให้เกิดพื้นที่/สถานีเชื่อมต่อและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเป็น โลกาภิวัตน์และความเป็นท้องถิ่น ในการสร้างสรรค์ การแสวงหาทางเลือกใหม่ของการพัฒนา และที่สำคัญคือนวัตกรรมสังคม (Social Innovation)          
         นี่คือโอกาสของประเทศ โอกาสของมหาวิทยาลัยทักษิณ ข้าพเจ้าประกาศ
         “มหาวิทยาลัยทักษิณ จะให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างจุดเปลี่ยน หนุนเนื่องการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง...เราต้องเป็น “ปัญญาให้สังคม เป็นแสงสว่างให้ฐานรากได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคง ไปพร้อม ๆ กับการเป็นสะพานเชื่อมรากสู่โลกที่ไกลออกไป และทำให้โลกเอื้อมมือมาถึงท้องถิ่น”          
         หลายคนอาจเข้าใจว่าเพียงวาทกรรม ?          
         ข้าพเจ้าปลุกเร้าความมั่นใจ “ทุกสิ่งเป็นไปได้ ถ้าเชื่อมั่น มีการสนับสนุน สร้างระบบปฏิบัติการ สร้างทีมที่ยอดเยี่ยมในทุกมิติ”
         เพื่อนนักวิจัยคนหนึ่งแซวข้าพเจ้าว่า “ยาก-เราเป็นปลาในคลองชลประทาน ไม่ใช่ฉลามในมหาสมุทร”
         เธอคงอุปมาจากที่ตั้งมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่มีคลองชลประทานตัดผ่าน แนวเหนือใต้ สองฟากฝั่งคลองมีถนนขนาบข้างสัญจรเชื่อมต่อพื้นที่ ถนนเพชรเกษมด้านหน้ามหาวิทยาลัย ขับรถบนถนนเส้นนี้ในยามเช้า - เย็น เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เห็นน้ำใสไหลเย็นอ้อยอิ่ง นกยางเยื้องย่าง ทอดน่อง จดจ้อง รอคอย ช่างสวยงาม          
         ข้าพเจ้ายิ้ม ประกาศก้องบนเวที
         “เราจะล่อฉลามให้มาว่ายแข่งขันกันในคลองชลประทาน ก่อนขุนมันให้เชื่องแล้วปล่อยคืนสู่มหาสมุทร โดยที่เราอยู่บนหลังมัน”          
         ลงมือก่อนย่อมได้เปรียบ          
         ใครกำหนดสนาม คน/ องค์กรนั้นชนะ

------------------------------------------------
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
ป่าพะยอม-วันฟ้าโปร่ง