นกกระจิบ-อินทรีทะเลสาบ และการเชื่อมต่อการบริหาร

นกกระจิบ-อินทรีทะเลสาบ และการเชื่อมต่อการบริหาร

1 พ.ค. 67 2717

บ่ายคล้อยวันจันทร์ ส่งท้ายหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ข้าพเจ้าเดินออกมาพักสายตาพร้อมกาแฟสดหอมกรุ่น ที่ศาลาทรงไทยกระเบื้องดินเผาโบราณ 100 ปี สนามหญ้าข้างบ้าน หลังตะลุยนอน-นั่งอ่าน “ใต้ถุนป่าคอนกรีต” ของรงค์ วงษ์สวรรค์ ที่หยิบยืมมาจากสถาบันทรัพยากรการเรียนรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ มาแต่เช้าตรู่ของวัน

1.

      นอกรั้วบ้านแสงแดดเจิดจ้า เปลวแดดปานแผดเผาทาบทาอาณาบริเวณ ดีที่หลายปีมานี้ข้าพเจ้าหันมาปลูกไม้ยืนต้นจำพวกไม้ผล ไม้ให้ร่มเงา ไว้ 4-5 ต้น แม้จำใจต้องตัดทิ้งไปบ้างเนื่องจากโตแผ่ขยายเข้าไปในที่ของเพื่อนบ้าน ตอต้นพยุงขนาดโอบพยายามยื้อชีวิตแตกตาแตกกิ่งขึ้นมาใหม่ หลังถูกโค่นเมื่อ 4-5 เดือนก่อน ขนุน กระดังงาสงขลา มะม่วง ช่วยกันต้านแดดจ้าอย่างแข็งขัน แม้บ้างร่วงใบปลิดปลิวตามวัฏสงสารและการขาดแคลนอาหารน้ำในยามแล้งนี้

      ร่มมากหน่อยก็ตรงวงรัศมีแผ่กิ่งต้นจำปาทองใบเขียวหนาที่ถูกบั่นยอดไว้ที่ความสูงราว 3 เมตร และถูกตัดแต่งกิ่งไม่ให้รุกล้ำเพื่อนบ้านมันจึงแผ่ขยายในรูปทรงแบบครึ่งวงกลม แลดูแปลกตา แต่ยังรักษาสมดุลและมั่นคงการทรงลำต้นไว้ได้อย่างน่าแปลกใจ

      ลมร้อนๆ เย็นๆ จากต้นไม้กับพัดลมเบอร์ 5 ตัวเก่าในศาลา ช่วยผ่อนคลายให้บรรยากาศกับจิบกาแฟเพลิดเพลินขึ้น แม้อาจไม่รื่นรมย์เท่า ? เพียงอึดใจหลังจากนั้นข้าพเจ้าพลันได้ยินเสียงจิ๊บ จิ๊บบ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ดังชัดทั่วบริเวณ หลังสอดส่ายสายตาอย่างตั้งใจ บนพุ่มโมกดอกขาวบานสะพรั่ง ข้างก๊อกน้ำสนามหญ้าเยื้องศาลาด้านทิศเหนือ นกตัวเล็กๆปากเรียวยาว ลำตัวและหางออกเหลืองแกมเขียว ท้องขาวยาวตลอดใต้ช่วงตัว กระโดดโลดเต้นไปมากิ่งโน้นกิ่งนั้น ชู/ยกหางเขียวเรียงลดหลั่น ส่งเสียงร้องตลอดเวลา “นกกระจิบ” นกกระจิบธรรมดาตามชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ “Arthomus Sutorius”

      นกกระจิบ-ส่งเสียงร้อง กระโดดโลดเต้น บนพุ่มไม้เตี้ย

2.

      เช้าตรู่ของวันที่ 18 เมษายน 2567 ข้าพเจ้าออกเดินทางจากบ้านไปปฏิบัติภารกิจที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ยาวถึงวันเสาร์ การเดินทางที่ไม่เร่งรีบ ถือโอกาสทัศนาธรรมชาติสองข้างทางบนถนนสายสงขลาระโนด-พัทลุง บรรยากาศยามแล้งร้อน ใบไม้ใบหญ้าเหี่ยวเฉา ปลิดใบทิ้งร่วงไปตามสีสันของพืชพันธุ์และฤดูกาล ผ่อนคลายสบายตาขึ้นมามากโขเมื่อการเดินทางมาถึงสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย “สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าสะพานเอกชัยนั่นเอง

      บรรยากาศยามเช้าอันสดชื่น จากมุมมองขณะรถแล่นชะลอตัว บนสะพานขนาบทะเลสาบสงขลา ส่วนทะเลน้อยเชื่อมต่อจังหวัดสงขลาและพัทลุง ช่างงดงาม ชื่นตา ชุ่มฉ่ำหัวใจให้พลังชีวิต ข้าพเจ้าทอดสายตายังเบื้องล่าง แสงแดดกระทบผิวน้ำ ระลอกคลื่นเลื่อมพราย “ควายปลัก” ไม่ถ้วนจำนวนนับ ออกหากินเล็มหญ้าบนสันดอนน้ำ ยามแล้งเราเรียกว่า “ควายบก” ยามน้ำหลาก ฤดูฝน น้ำท่วมสันดอนควายบกเหล่าจึงค่อยลอยคอหากินหญ้า จอก พืชเหนือ-ใต้น้ำ อันเป็นที่มาการเรียกขานว่า “ควายน้ำ” คืออีกหนึ่งในการปรับตัวของควายทะเลน้อย

      ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ การเกื้อกูลในวิถีแห่งทะเลสาบ และความโดดเด่นอันเป็นอัตลักษณ์สอดคล้องตามองค์ประกอบ “มรดกโลกทางการเกษตรโลก” ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ อันประกอบด้วย ความมั่นคงทางอาหารและการดำรงชีพ ความหลากหลายทางชีวภาพและการเกษตร องค์ความรู้ด้านภูมิปัญญา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิทัศน์และคุณค่าทางสุนทรียะ และหลังจากพยายามผลักดันอยู่หลายปีของหลายภาคีรวมถึงนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลก แห่งแรกและแห่งเดียวในประทศไทย เมื่อ ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา

      เบื้องหน้าไกลออกไปในมุมสูง ฟ้ากว้างแจ่ม ข้าพเจ้าจ้องมองนกตัวโต สยายกางปีกบินสูง ในจังหวะท่วงท่าสง่างาม คล้ายประกาศความเป็นจ้าวเวหา ท่ามฟ้าครามสดใส เมฆน้อยใหญ่เรียงตัวหลายหลากรูปทรง ลอยตัวอ้อยอิ่งเบียดห่มทาบฟ้า ครั้งหนึ่งชาวบ้านย่านปากประ พนางตุง บอกข้าพเจ้าว่าคือนกอินทรีท้องขาว หรือนกออก แห่งทะเลสาบสงขลา สัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หาดูได้ยากทีเดียว ข้าพเจ้าเชื่อตามคำบอกเล่าของพี่น้องชาวบ้านย่านนั้น

      นกอินทรี คือ นกอินทรี จะทะเล ท้องฟ้า มหาสมุทร ใด ล้วนทรงค่า สง่างาม

      นกกระจิบบนพุ่มไม้เตี้ยๆ ย่อมไม่มิอาจรู้ปีกแห่งอิสระและเสรีการเหินหาวแบบอินทรี จำมาจากไหน ? ไม่แน่ใจ

      อินทรีได้ชื่อว่าเป็นนกที่แข็งแกร่ง บินสูงเห็นฟ้ากว้าง มีสายตาที่แหลมคม อดทนรอคอย จดจ้อง พุ่งทะยานสู่เป้าหมายอย่างแหลมคม เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ยามสยายปีก ลีลา ท่วงท่าสง่า ดังสมญา “จ้าวเวหา ราชาแห่งนก”

      [“พญาอินทรีย์แห่งสวนอักษร เป็นหนึ่งในฉายาของรงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนที่ได้ชื่อว่ายืนหนึ่งในวงกรรมกรรมแห่งยุคสมัยถึงทุกวันนี้ ]

3.

      ในแง่มุมการบริหารในยุคสมัยที่บ้างว่าเป็นยุคBANI World - เปราะบาง (Brittle) กังวลหม่นเศร้า (Anxious) ไม่เป็นเส้นตรง/ไม่อาจคาดเดา (Nonlinear) และความเข้าใจที่ยากและซับซ้อน (Incomprehensible)} บ้างว่ายุคDisruption หรือในทางเศรษฐกิจของสังคมไทยที่ว่ากันว่าเข้าสู่ยุค Silver Economy จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งในแวดวงมหาวิทยาลัย ในกระแสคเสียง/ ความคิดที่ว่า “ไม่มุ่งหวังปริญญา มหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบ” เป็นต้น

      ข้าพเจ้าคิดว่าผู้บริหารยุคใหม่เผชิญกับความท้าทายที่หนักหน่วงและเข้มข้นอย่างที่ไม่เคยเป็น หรือประสบพบเจอมาก่อน การปรับตัว นำพาองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงสร้างสิ่งใหม่ ให้องค์กรอยู่รอด สิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์และความกล้าหาญในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ข้าพเจ้าเคยพูดไว้คราหนึ่งว่า ในสถานการณ์ปกติ ความสามารถของผู้นำวัดกันที่ “กำหนดวิสัยทัศน์ การจัดโครงสร้าง พัฒนาระบบและกลการขับเคลื่อน” แต่ในสถานการณ์วิกฤต วัดกันที่ “ความกล้าหาญในการตัดสิน” การประวิงเวลา กลัว ไม่กล้าตัดสิน คือ “โอกาสที่สูญเสีย” คือการขุดหลุมฝังกลบองค์กร คือการตกขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลง

      รูปธรรมที่เห็นและรับรู้กันมากมาย..Xerox Kodak Nokia ร.ส.พ. สายการบินแห่งชาติ ฯลฯ ใครจะเชื่อว่าภายใต้แนวคิด “Never Stop” รายได้หลักในปัจจุบันของFUGIFILM มาจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องสำอาง ที่ต่อยอดจากทรัพย์สินทางปัญญาในธุรกิจฟิล์มเดิม, ปตท.มีกำไรจากกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า Non Oil กลุ่มLife Style เช่น ร้านกาแฟ สะดวกซื้อ เพิ่มต่อเนื่องทุกปี ทั้งยังยังมีบทบาทสำคัญในการหนุนให้เกิดการเติบโตของธุรกิจหลักเดิมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง-ต่อเนื่อง,

      คงเป็นตลกขบขันหาสำหรับคอฟุตบอลบุนเดสลีกา (Bundesliga) ของเยอรมัน หากมีใครบอกว่าสโมสรไบเออร์เลเวอร์คูเซน (Bayer Leverkusen) จะก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์ลีกสูงสุด ที่ผูกขาดโดยสโมสรบาเยิร์นมิวนิค (Bayern München) มาชั่วนาตาปี ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 120 ปี นับแต่ก่อตั้งสโมสร แถมมีลุ้นสร้างประวัติศาสตร์เป็นแชมป์ไร้พ่าย และสามแชมป์ในปี 2023-2024 สื่อออนไลน์หลายฉบับพาดหัวนี้

      - เป๊ป กวาร์ดิโอล่า (Pep Guardiola) โค้ชอัจฉริยะ ผู้สร้าง/ยกระดับและทำให้ฟุตบอลเป็นศิลปะและการเริงระบำบนสนามหญ้า ด้วยลีลาตื่นตาตื่นใจ ใช้คำว่า “WOW” ในการให้สัมภาษณ์ พร้อมสดุดีโค้ชอย่างจริงใจว่า ได้ทำในสิ่งที่เรียกว่า “ความมหัศจรรย์เกินจินตนาการ [พวก] เขาไม่เคยยอมแพ้

      - From 'Neverkusen' to 'Megakusen : Leverkusen complete miracle run after past misses, (https://owensbororadio.com/2024/04/14/from-neverkusen-to-megakusen-leverkusen-complete-miracle-run-after-past-misses/),

      - From Neverkusen to Neverlosin. It's time for a history lesson on Bayer's last historic treble run. https://twitter.com/vsrsus/status/ 1778444978747777279),

      ประวัติหน้านี้ถูกเขียนขึ้นโดยโค้ชโนเนมที่ไม่เคยคุมทีมชุดใหญ่มาก่อนในชีวิตนามซาบี อลอนโซ่ (Xavi Alonso) ที่เข้ามารับเผือกร้อนพาทีมหนีการตกชั้นเมื่อปี 2022 เขาสร้างความหัศจรรย์จากสิ่งที่เรียกว่าสปิริต ความเป็นกองทัพนักสู้แห่งเลเวอร์คูเซน และการปลุกเร้าการต่อสู้ไม่ยอมแพ้ ด้านหนึ่งจึงนับเป็นความกล้าหาญในการตัดสินใจของคณะกรรมการสโมสรในวันนั้น ไซมอน โรลเฟส (Simon Rolfes) Sporting Managing Director ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างคมคายในวันแต่งตั้งอลอนโซ “ประสบการณ์ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ” (Experience doesn't trump quality) “เรา (สโมสร) ต้องการคนหนุ่มที่กล้าหาญ และหิวกระหายชัยชนะ"

      ความกล้าหาญนำไปการสิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานกว่าศตวรรษ

      ประวัติศาสตร์ใหม่เพียงเริ่มการบันทึกความยิ่งใหญ่

      อย่างไรก็ตามที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้นำคือการลงไปร่วม “ปฏิบัติการ” กับทีมแบบรุมสกรัม (Scrum) เป็นส่วนหนึ่ง ที่ร่วม “จมหัวจมท้าย” กับทีมอย่างใกล้ชิด ทำหน้าที่โค้ช ช่วยขจัดปัญหาและ/หรืออุปสรรคในกระบวนการทำงาน ที่สำคัญคือการประเมินติดตามความก้าวหน้าของงาน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในอันที่จะทำให้เกิดการทบทวนและก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง (Sprint)

      ไม่ใช่การทำงานแบบลงล่างแบบเดิมที่เรียกว่า Waterfall Process แต่คือการทำงานแบบที่เรียกว่า อไจล์ (Agile) ที่เน้นการทำงานแบบเครือข่าย โครงข่ายในแนวราบ และการทำให้ทีมเห็นงานที่รับผิดชอบ ความเชื่อมโยงกับภาพกว้าง ภาพรวมขององค์กร ซึ่งเป็นฐานคิดที่สำคัญของการทำงานแบบสกรัมนั่นเอง

      ข้าพเจ้าอุปมาว่าผู้นำยุคใหม่จึงต้องเป็นทั้งอินทรีและนกกระจิบในเวลาเดียวกัน พร้อมๆกัน “คิดการณ์ใหญ่ มองกว้าง มองไกล กล้าตัดสินใจ กล้าหาญ ลงมือปฏิบัติการ ไม่มองผ่าน/ละเลยเรื่องเล็ก”
 

..............................

เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์   อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ