ในรอบสัปดาห์ 15-17 พฤษภาคม 2567 ข้าพเจ้าเดินทางเป็นวงกลม เริ่มต้นจากวันพุธเช้าเดินทางจากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ไปสัมมนาหัวหน้าฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน ที่ จ.สตูล ก่อนเดินทางในช่วงค่ำของวันนั้น เพื่อเข้าร่วมสัมมนา “จากความหลากหลายสู่ความเป็นหนึ่ง” ของคณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่อ่าวนาง จ.กระบี่ ในอีกวัน หลังบรรยายเสร็จรีบบึ่งมาร่วมจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ (2567-2570) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 16-17 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตพัทลุง โดยมีสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเป็นเจ้าภาพหลัก
1. เช้าวันศุกร์บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เสริมพลังรากแก้วเพื่อสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง” แก่นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Rakkaew Empower U Camp 2024 ของมูลนิธิรากแก้ว ที่โรงแรมบีพี สมิหลา สงขลา ก่อนออกเดินทางด้วยความเร่งรีบเพื่อสัมมนาประจำปี และบรรยาย “TSU Moonshot” ของสำนักงานวิทยาเขตพัทลุง และกลับสงขลาในช่วงดึกของวันเดียวกันนั้น 3 วัน ร่วม 1,000 กิโลเมตร (ขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์วรุฒม์ นาฑี สำหรับแผนที่ประกอบแบบเร็ว ๆ ระหว่างการพูดคุยบนโต๊ะอาหารริมทะเลอ่าวนางของเช้าวันนั้น)
2. ในวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน เรารับรู้กันโดยทั่วไปว่าการเคลื่อนที่แบบวงกลม หมายถึงการเคลื่อนที่ของวัตถุเป็นวงกลมรอบศูนย์กลาง อันเกิดจากแรงกระทำต่อวัตถุ ที่เรียกว่า “แรงสู่ศูนย์กลาง” ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของวัตถุเป็นวงกลม อย่างน้อย 2 ใน 3 ของมื้อกลางวัน ข้าพเจ้าทานแบบง่ายๆ ในรถ แข่งกับเวลา นั่งทำสไลด์ เตรียมบรรยาย ประเด็นการพูดคุยให้เหมาะกับโจทย์ บริบทขององค์กร/ หน่วยงาน บางช่วงบางเวลาอาจหยิบวรรณกรรมที่พกติดเป้อ่าน รอคอยการไปถึง
ข้าพเจ้าเดินทางเป็นวงกลมด้วยแรงใด อะไรคือศูนย์กลางของการเดินทาง?
การประกาศแผนยุทธศาสตร์และหมุดหมายของมหาวิทยาลัย พร้อมระบบปฏิบัติการไปสู่ดวงจันทร์ (TSU Moonshot) คือความท้าทายและการพลิกโฉมครั้งสำคัญ ที่ต้องอาศัยพลัง ความร่วมมือ และการทุ่มเทอันมหาศาลของบุคลากรทุกระดับ ไม่เพียงแค่สร้างการรับรู้ การสื่อสารสร้างความเข้าใจ และ/ หรือการถ่ายทอด/ สื่อสารแบบผิวเผิน แต่คือ “งานความคิด” และ “การจัดตั้งทางความคิด”
“งานความคิด” ในที่นี้หมายถึงกระบวนการทำให้ยุทธศาสตร์ หมุดหมาย และปฏิบัติการไปสู่ดวงจันทร์ของมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงเข้ากับการรับรู้ ชุดประสบการณ์ เพื่อสร้างความหมาย ประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และจินตนาการใหม่ ที่แปลแปลงไปสู่ความทะเยอทะยานในงาน การประยุกต์สร้างผลสำเร็จในงาน ด้วย “ปัญญาปฏิบัติการ” ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และ “ปัญญาร่วมระดับองค์กร”
หากละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับ “งานความคิด” ชีวิตจะติดกรอบ พูด กระทำ แสดงออกแบบเดิมๆ ไม่กล้าสร้างสรรค์ กลัวการเปลี่ยนแปลง โหยหา ย่ำอยู่กับอดีต มากกว่าภาพฝันในอนาคต
งานความคิด ต้องผ่าน“การจัดตั้งทางความคิด"
การจัดตั้งทางความคิด เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการที่เชื่อมโยงความคิดในภาพรวม/ ภาพใหญ่ขององค์กร ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้าง อารมณ์ ความรู้สึกของปัจเจกและองค์กรย่อยในระดับต่างๆ ที่พร้อม “ปฏิบัติการ” อย่างกลมกลืน เป็นเนื้อเดียวสู่เป้าหมายร่วม/ เป้าหมายใหญ่ในเชิงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และหมุดหมาย
หัวใจสำคัญของการจัดตั้งทางความคิด คือการทำให้ความคิดแผ่ซ่านออกไปทั่วทุกทิศทาง การประยุกต์ ดัดแปลงความคิดเป็นระบบปฏิบัติการย่อยๆ ที่เหมาะสม สอดคล้องกับพันธกิจ บทบาทขององค์กรในระดับต่างๆ พร้อมๆ กับการเรียนรู้ใหม่ๆร่วมกันภายในทีม รวมถึงการส่องสะท้อนย้อนกลับเพื่อการปรับเปลี่ยน หรือริเริ่มใหม่ๆในเชิงนโยบาย วิสัยทัศน์ ฯลฯ ในอนาคต
ผู้บริหารจึงต้องทุ่มเท ให้ความสำคัญกับการทำงานทางความคิด รูปการณ์จัดตั้ง การพลิกแพลง คิดค้นกลยุทธ์ ยุทธวิธีการจัดตั้ง การนำและร่วมปฏิบัติการขับเคลื่อนงานแบบเกาะติด
3. การเดินทางคือการผจญภัยแบบหนึ่ง ที่ทำให้เราได้พบกับคุณค่าและความมหัศจรรย์ วัตถุเดินทางเป็นวงกลมด้วยแรงสู่ศูนย์กลาง ข้าพเจ้าเดินทางเป็นวงกลม โดยมีองค์กรเป็นศูนย์กลาง ด้วยแรงรุดและการนำพาองค์กรพุ่งทะยานไปข้างหน้า...ไปด้วยกัน อย่างมั่นใจใน “งานความคิด”
..............................
เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
บนเส้นทางสงขลา-สตูล