นิสิตวิทย์ฯ สิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ชุมชน-สัมผัสงานสิ่งแวดล้อมที่ทำด้วยใจ

นิสิตวิทย์ฯ สิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ชุมชน-สัมผัสงานสิ่งแวดล้อมที่ทำด้วยใจ

15 ม.ค. 68 56

การเรียนการสอนในยุคปัจจุบันไม่จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน แต่ต้องเปิดโอกาสให้นิสิตได้สัมผัสประสบการณ์จริงในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นในการเผชิญกับความท้าทายของโลกปัจจุบันและอนาคต

วันนี้ (15 ม.ค. 2568) นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีโอกาสลงพื้นที่เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์จริงเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์และยั่งยืน ณ “ในสวนศรี” ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา "การมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม" ที่เน้นการเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับการปฏิบัติจริงในชุมชน

อาจารย์ ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา ได้กล่าวว่า กิจกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้จากผู้ประกอบการและชุมชนในมิติที่หลากหลาย ทั้งการเข้าใจบริบทของชุมชน และการนำทุนของชุมชนทั้งทุนระบบนิเวศ ทุนมนุษย์ ทุนสังคมและวัฒนธรรม ทุนภูมิปัญญาท้องถิ่น และทุนทางเศรษฐกิจของชุมชนมาต่อยอดในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้มีการบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยเรื่อง “พัทลุงโมเดล: การวิจัยและนวัตกรรมสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” ร่วมกับกระบวนการเรียนการสอนที่จะสร้างนักสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ที่ทำงานร่วมกับชุมชน  

   

“ในสวนศรี” เป็นพื้นที่ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติในภูมินิเวศเชิงเขา โดยคุณจันทร์จิรา แก้วบัว ศรีปิง เจ้าของสวน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมาใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ และสร้างสรรค์พื้นที่นี้เพื่อแบ่งปันความสุขให้กับผู้มาเยือน ภายในสวนมีการจัดกิจกรรมที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเชื่อมโยงธรรมชาติกับศิลปะ การประดิษฐ์ผลงานจากวัสดุธรรมชาติ และการนำเสนออาหารมังสวิรัติที่ปลอดสารพิษ ซึ่งปลูกในพื้นที่สวนเอง เช่น ผักพื้นบ้าน สมุนไพร และผลไม้หลากหลายชนิด  

   

นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เรียนรู้แนวคิดและวิธีการสร้างธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการเน้นย้ำถึงบทบาทของการจัดการสิ่งแวดล้อมในเชิงบูรณาการ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่น นอกจากนี้ นิสิตยังได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้านและผู้ประกอบการ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนอย่างลึกซึ้ง กิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในมิติของการมีส่วนร่วม แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การลงพื้นที่ครั้งนี้ช่วยให้นิสิตเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ความร่วมมือระหว่างนิสิต ชุมชน และสถาบันการศึกษา รวมถึงความตั้งใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในระดับท้องถิ่นและสังคมโดยรวม

 

  

.................
ภาพ/เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ