ม.ทักษิณ ผนึกกำลังภาคีร่วมจัดประชุมวิชาการระดับชาติ  นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย

ม.ทักษิณ ผนึกกำลังภาคีร่วมจัดประชุมวิชาการระดับชาติ นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย

20 ก.พ. 68 83

มหาวิทยาลัยทักษิณผนึกกำลังภาคีเครือข่ายร่วมจัดประชุมวิชาการระดับชาติ "นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย" ปีที่ 2 ขับเคลื่อนเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับตำบลและจังหวัด ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายวิชาการ เพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน อาศัยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ระดับตำบล จังหวัด และระดับชาติ มุ่งสู่การสร้างประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยที่มั่นคงและยั่งยืน

   

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 68  มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมขับเคลื่อนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย" ปีที่ 2 ภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ หัวหน้าโครงการ และรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับและเปิดงาน และมี ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คุณเอกนัฐ บุญยัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) คณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้วิจัย คณาจารย์ นิสิตและผู้สนใจจำนวนมาก

   

การประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้รับความร่วมจากภาคีเครือข่ายทางวิชาการ ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), สภาองค์กรชุมชน, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย, สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันการศึกษาชั้นนำ ได้แก่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA), มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งในจังหวัดพื้นที่นำร่อง 10 แห่ง โดยเป็นพื้นที่เดิม 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดพัทลุง และจังหวัดเชียงราย และเป็นพื้นที่ใหม่ 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครสรรค์ และจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งดำเนินการในปีที่ 2 

   

การประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานวิชาการ ซึ่งที่ได้รับการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิและได้รับการคัดเลือกให้เผยแพร่รวมทั้งสิ้น 47 ผลงาน ได้แก่ บทความวิชาการและบทความวิจัย 18 ผลงาน  นวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง 25 ผลงาน (รวมถึงนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็งพื้นที่นำร่อง 10 ผลงาน) และโปสเตอร์นำเสนอผลงาน 4 ผลงาน

การประชุมวิชาการครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันแนวคิด "ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย" ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งคาดหวังว่าผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้จะเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งและการสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

 

...................................................

ข่าวโดย : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ