คณะนักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ พัฒนา “อาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับชันโรงอิตาม่า” นวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ เพิ่มภูมิคุ้มกัน และลดอัตราการล่มสลายของรังชันโรง ตอบโจทย์เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงในยุคที่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมขับเคลื่อนสู่การพึ่งพาตนเองและความยั่งยืนในระดับชุมชน
ภายใต้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลโดยตรงต่อแมลงผสมเกสร โดยเฉพาะแมลงเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่าง “ชันโรง” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยผสมเกสรพืชเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณร่วมมือกับเครือข่ายนักวิจัย จึงได้พัฒนางานวิจัยเชิงนวัตกรรม “อาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับชันโรงอิตาม่า” เพื่อส่งเสริมสุขภาพของชันโรงและเพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โครงการวิจัย “การพัฒนาอาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับชันโรงอิตาม่า เพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดการล่มสลายของรังอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดำเนินงานวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันกุศล ชนะสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ และคณะ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
งานวิจัยนี้มีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพของชันโรงอิตาม่าผ่านการให้อาหารเสริมจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่คัดแยกได้จากลำไส้ของชันโรงเอง ซึ่งมีประโยชน์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยพัฒนาต่อมไฮโปฟาริงจ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการของตัวอ่อน เพิ่มจำนวนกลุ่มไข่ ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ และช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้งในระดับฟาร์มอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งชันโรงสำคัญของภาคใต้ โดยมีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมทดลองใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับชันโรงเกือบ 100 ราย นอกจากการวิจัยพัฒนาอาหารเสริมแล้ว โครงการยังเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีโพรไบโอติกสำหรับชันโรง สู่เกษตรกรในชุมชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารเสริมใช้งานได้เอง และเพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ ลดต้นทุนการเลี้ยง ลดการสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน
ในการประชุมถ่ายทอดองค์ความรู้ ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ ปักเข็ม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล กล่าวต้อนรับ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดงานและเน้นย้ำบทบาทของงานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคมจริง
โครงการนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของวิจัยไทยที่ใช้พลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างเครื่องมือในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
..............................................
ข่าว : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ